Events

การพัฒนาเมืองกระบี่ : มุมมองจากภาคท้องถิ่น

 

ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ภายใต้โครงการวิจัย การศึกษาทบทวนนโยบายเศรษฐกิจเมืองของไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและเกื้อกูล ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. และหน่วยงาน บพท. ได้จัดเวทีเมือง เรื่อง การพัฒนาเมืองกระบี่ : มุมมองจากภาคท้องถิ่น  ในวันที่ 8 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2565 เวลา 12.30 - 13.30 น. ผ่านการประชุมออนไลน์  พูดคุยกับ คุณสมศักดิ์ กิตติธรกุล  นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่

ร่วมแลกเปลี่ยนโดย

คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

ผศ.กัลยาณี พรพิเนตพงศ์ นักวิชาการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

คุณณัฐธิดา เย็นบำรุง นักวิจัยศูนย์ศึกษามหานครและเมือง 

อ.ปพิชญา แซ่ลิ่ม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

          ในการพูดคุย คุณสมศักดิ์ กิตติธรกุล ได้ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเมืองกระบี่วันนี้ หลายประเด็น ดังนี้  

ประเด็นแรก การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเมืองกระบี่ สำหรับเมืองกระบี่ปัจจุบันกับอดีตแตกต่างกันมากในเรื่องของเศรษฐกิจ กระบี่มีการขยายเมือง มีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากขึ้น ปัจจุบันกระบี่พึ่งพิงเศรษฐกิจ 2 เรื่อง 1.เรื่องเกษตร ปาล์มน้ำมัน และยางพาราประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากในจังหวัดกระบี่พื้นที่สำหรับทำเกษตรจำนวนมาก 2. เรื่องท่องเที่ยว ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่กระบี่พึ่งแค่เรื่องเกษตรกรรม ปัจจุบันภาคการบริการและการท่องเที่ยวเป็นภาพที่เติบโตชัดเจน กลายเป็นว่าวันนี้กระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยว ใครๆ ก็อยากจะมาเที่ยว เป็นที่รู้จักของคนทั้งโลก ภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในภาพรวมของเศรษฐกิจก็ดีขึ้นมาก ถ้าไม่มีโควิด วันนี้การท่องเที่ยวของกระบี่ก็จะไปไกล

ประเด็นที่สอง แผนพัฒนาฯ จากส่วนกลางที่มีผลต่อการพัฒนาเมืองกระบี่ กระบี่เองก็พัฒนาเมืองไปเป็นไปตามนโยบายของประเทศ เพราะในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุอยู่แล้วว่าต้องการให้กระบี่เป็นท่องเที่ยว ทำให้รัฐบาลกลาง กระทรวง กรมต่างๆ ได้สนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยเฉพาะถนนหนทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว เพราะท้องถิ่นไม่มีงบประมาณเพียงพอ ต้องอาศัยงบประมาณจากส่วนกลางทั้งสิ้น  ปัจจุบัน พ.ศ. 2564 รัฐบาลกลางมีโครงการสร้างสะพานข้ามเกาะลันตา อยู่ในกระบวนการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอยู่

ประเด็นที่สาม แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองของจังหวัดกระบี่  จากยุทธศาสตร์ของจังหวัดมีการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ 3 เรื่องหลักๆ  1.การท่องเที่ยวสีเขียว เป็นการท่องเที่ยวแบบธรรมชาติ การปรับธรรมชาติของเมืองให้ดีอยู่ตลอดเวลา 2.สนับสนุนเส้นทางคมนาคมและพัฒนาความสะอาด เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวนั้นสมบูรณ์ 3. ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและสร้างความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการท่องเที่ยวร่วมกับสมาคมการท่องเที่ยวกระบี่

ประเด็นที่สี่ การทำงานกับภาคอื่นๆ  ท้องถิ่นมีการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ในการคิดนโยบายการพัฒนาเมืองร่วมกัน เช่น กระบี่ GO green เพื่อดูแลการท่องเที่ยวและสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

ประเด็นที่ห้า ช่องว่างของการพัฒนาเมือง มีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่สามารถทำตามความต้องการของประชาชนได้ รวมถึงอุปสรรคในการทำงาน เช่น

  • คนกระบี่อยากเห็นการคมนาคมสมบูรณ์แบบ แต่ยังเป็นไปไม่ได้ เพราะประเทศไทยมีหลายจังหวัด ส่วนกลางต้องดูแลจังหวัดอื่น มาดูแลกระบี่จังหวัดเดียวคงเป็นไปไม่ได้
  • ในเรื่องความเข้าใจของคนกระบี่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวก็ยังมีไม่มากพอ ต้องทำความเข้าใจอีกมาก
  • กระบี่ ไม่มีมหาวิทยาลัย ไม่ได้ทำโครงการพัฒนาใดๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัย
  • งบประมาณยังไม่เพียงพอ อบจ.กระบี่ ได้งบประมาณมาเพียง 500 ล้านบาท เหลือเป็นงบพัฒนาเพียงแค่ 100 กว่าล้านบาท และท้องถิ่นมีรายได้แค่จากการเก็บภาษีน้ำมัน ภาษีโรงแรม ภาษียาสูบ ท้องถิ่นยังไม่สามารถหารายได้ของตนเองได้

ประเด็นสุดท้าย ความคาดหวังในอนาคตในการพัฒนาเมืองกระบี่  เนื่องจากกระบี่เป็นเมืองท่องเที่ยวจึงอยากศึกษาการพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ๆ อยากจะศึกษาการพัฒนาการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเพื่อนำกลับมาพัฒนาเมืองตนเอง และการศึกษารถไฟรางเบาในเมือง เพื่อประหยัดพลังงาน และลดความแออัดของการจราจรในเมือง นอกจากนี้สิ่งสำคัญคือ ท้องถิ่นควรหารายได้บางส่วนเป็นของตนเอง เพื่อนำมาพัฒนาเมืองได้มากขึ้น

Related Posts