Events

การพัฒนาเมืองลำปาง : มุมมองจากภาครัฐ

ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ภายใต้โครงการวิจัย การศึกษาทบทวนนโยบายเศรษฐกิจเมืองของไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและเกื้อกูล ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. และหน่วย บพท.ได้จัดเวทีเมือง เรื่อง การพัฒนาเมืองลำปาง : มุมมองจากภาครัฐ ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2565 เวลา 14.00 - 15.00 น. ผ่านการประชุมออนไลน์  พูดคุยกับ คุณอำพัน ใจอินตา  ผู้อำนวยการกลุ่มงานยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดลำปาง สำนักงานจังหวัดลำปาง และคุณศุภามาศ ใจเย็น ผู้อำนวยการกลุ่มงานนโยบายและเศรษฐกิจจังหวัด สำนักงานคลังจังหวัดลำปาง

 

ร่วมแลกเปลี่ยนโดย

คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

ผศ.กัลยาณี พรพิเนตพงศ์ นักวิชาการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

คุณณัฐธิดา เย็นบำรุง นักวิจัยศูนย์ศึกษามหานครและเมือง 

อ.ปพิชญา แซ่ลิ่ม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

          ในการพูดคุย คุณอำพัน ใจอินตา และคุณศุภามาศ ใจเย็น ในฐานะตัวแทนภาครัฐผู้มีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดลำปาง ให้ข้อมูลเศรษฐกิจลำปาง และประเด็นการขับเคลื่อนภาครัฐ หลายประเด็น ดังนี้  

          ประเด็นแรก ภาพรวมของเศรษฐกิจลำปาง ตัวเลขทางเศรษฐกิจของเมืองลำปาง หลังพ.ศ. 2558 สภาพัฒน์ฯ ให้หยุดทำข้อมูล GPP ของจังหวัด  ให้ใช้ข้อมูลประมาณการเศรษฐกิจแทน ข้อมูลเรื่องเศรษฐกิจของจังหวัดตอนนี้จะดูได้มีประมาณการเศรษฐกิจ รายงานภาวะเศรษฐกิจของจังหวัด ประจำเดือน ดัชนีประจำเดือน ประมาณการเศรษฐกิจรายไตรมาส  ภาพรวมเศรษฐกิจจังหวัดลำปาง ในพ.ศ. 2553 เศรษฐกิจลำปางมีมูลค่าประมาณ  57000 ล้านบาท ใน พ.ศ. 2562 มีมูลค่าประมาณ 70000 ล้านบาท ซึ่งถือว่ามีการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นมาก  เศรษฐกิจลำปางประกอบด้วย มี 3 ส่วน  ภาคบริการ  อุตสาหกรรม  ภาคเกษตร เศรษฐกิจลำปางจะขยายตัวเป็น เกือบทุกเดือน มากน้อยแล้วแต่เดือน ส่วนโควิดกระทบภาคการบริการมากที่สุด อย่างไรก็ตาม  การบริการการท่องเที่ยวจะติดลบ แม้จะมีโควิด แต่เศรษฐกิจลำปางยังดำเนินต่อไปได้ การติดเชื้อเลยไม่มีผลกับเศรษฐกิจภาพรวมมากนัก

          ประเด็นที่สอง จุดเด่นของเศรษฐกิจลำปาง หากวิเคราะห์ในแต่ละภาคของเศรษฐกิจ จะเห็นจุดเด่นของเศรษฐกิจหลายเรื่อง ดังนี้

  • จุดเด่นอยู่ที่ภาคการผลิตอุตสาหกรรม คือ โรงงานเซรามิก มีทั้งหมด 200 กว่าโรงงาน โรงงานเซรามิกมีหลายระดับ มีโรงงานที่เป็น Niche Marker ประมาณ 40 บริษัท มีลูกค้าเฉพาะจากต่างชาติมาตลอด ส่วนมากจะเป็นยุโรป อเมริกา ในระยะหลังเริ่มจะมีจีน และญี่ปุ่นด้วย โรงงานที่ผลิตเซรามิคราคาถูกส่งขายตามร้านต่างๆ รวมไปถึงโรงงานรับจ้างผลิต เรื่องเซรามิคนั้นโดดเด่น เพราะเป็นสินค้าที่เชื่อมโลกได้ ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ใน โลก อัตราการจ้างงานไม่ได้เพิ่ม เพราะเอาเครื่องจักรมาใช้ แต่ก็ไม่ได้ลดคน แรงงานส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่
  • อุตสาหกรรมแปรรูป จุดเด่นอยู่ที่ “ครั่ง” (แมลงจำพวกเพลี้ย) มีโรงงานที่ทำครั่งในประเทศไทยทั้งหมด 5 โรงงาน แต่ในลำปางมีในโรงงานครั่ง  4 โรงงานแล้ว ครั่งสามารถแปรรูปทำเอทานอลทาไม้  ทำเครื่องสำอาง ใช้ในน้ำหอมด้วย จังหวัดพยายามส่งเสริมเป็นป่าปลูกครั่งให้มากขึ้น แต่ยังไม่พอต่อความต้องการของในประเทศและต่างประเทศ เพราะวัตถุดิบมีแค่ที่ไทยและอินเดีย โรงงานแปรรูปครั่งยังเป็นโรงงานขนาดเล็ก คนงานยังไม่เยอะ มีไม่ถึง 10 คน ส่วนใหญ่มีเครื่องจักรใช้
  • ภาคอุตสาหกรรม ยังมีหินอุตสาหกรรมก่อสร้าง ขุดที่ลำปาง จังหวัดอื่นต้องมาซื้อ มีโรงโม่งในจังหวัดลำปาง มีลิกไนซ์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า
  • จุดเด่นของภาคเกษตรลำปาง มีข้าวเหนียวนาปี ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลังปลูกทุกอำเภอ ความต้องการประเทศจีนในสินค้าเกษตรเหล่านี้มีมาก มีประกันรายได้ทั้งคนผลิตและผู้ประกอบการ มีโรงงานมารับซื้อเพื่อส่งจีน สะท้อนว่าภาคเกษตรในเมืองลำปางมีการเติบโตเหมือนกัน
  • ภาคบริการ เช่น ภาคบริการท่องเที่ยวลำปาง ก่อนเกิดโควิดก็เติบโตดีมากเกิน 4-5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี มีนักท่องเที่ยวทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ และนักท่องเที่ยวที่มาจากโครงการท่องเที่ยวของภาครัฐ นอกจากนี้ยังมีห้างสรรพสินค้าใหญ่มากมายในจังหวัด เช่น โฮมโปร โลตัส บิ๊กซี ห้างท้องถิ่น ที่เข้ามาช่วยการจ้างงาน
  • ภาคการใช้จ่าย การบริโภค การลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ งบประมาณของจังหวัดลำปาง ภาคการใช้จ่ายเติบโตเหมือนกัน เพราะโครงการของรัฐ โครงการเที่ยวด้วยกัน คนละครึ่ง งบประมาณลงทุนภาครัฐเป็น 54 เปอร์เซ็นต์ของงบทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนท่องเที่ยว
  • กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจลำปางค่อนข้างดี คนท้องถิ่นค่อนข้างมีงานทำ เพราะมีโรงงานจำนวนมาก แม้จะไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรมก็ตาม

          ประเด็นที่สาม ปัจจัยการขยายตัวของเมืองลำปาง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะนโยบายภาครัฐ ในอดีต เช่น นโยบายการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ตั้งแต่ พ.ศ. 2527 ทำให้คนต่างถิ่นเข้ามาเป็นคนลำปางจำนวนมาก นโยบายการสร้างศูนย์ขายเซรามิค ก็ช่วยเศรษฐกิจจังหวัด  นโยบายสนับสนุนการใช้จ่าย เช่น คนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน เป็นต้น นอกจากนี้ ปัจจัยการเติบโตของเศรษฐกิจเมืองลำปางเกิดจากทรัพยากรต้นทุนของพื้นทีด้วย เช่น ลำปางมีดินขาว มีแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญที่ทำมา 20 ปี เป็นลักษณะพิเศษของจังหวัด ทำให้อุตสาหกรรมเซรามิกเติบโต  ภาคเอกชนเองก็เข้มแข็ง มีการทำงานเป็นคลัสเตอร์ด้วย แม้จะไม่มีงบประมาณสนับสนุนจากจังหวัดลำปาง หลายโครงการก็ดำเนินได้ด้วยตนเอง อีกทั้งมีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาร่วมทำงานกับภาคเอกชนมากขึ้น

          ประเด็นที่สี่ แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองของจังหวัดลำปาง จากนโยบายของจังหวัดมีการพัฒนาเศรษฐกิจ ในพ.ศ. 2565 ประเด็นหลักของลำปางที่ขับเคลื่อน มี 4 ประเด็น 3 ประเด็น เป็นเรื่องเศรษฐกิจ 1. เรื่องท่องเที่ยว 2.เกษตร 3.อุตสาหกรรม (ไม้ เซรามิค) 4. เรื่องสังคมและคุณภาพชีวิต  รูปธรรมที่สนับสนุนเศรษฐกิจจังหวัด เช่น  การท่องเที่ยว ไปส่งเสริมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ส่งเสริมท่องเที่ยวชุมชน เป็นลักษณะคิดค้นสถานที่ที่คนไม่รู้จักให้เป็นที่รู้จัก พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมให้แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ ตามอุทยานต่างๆ  ส่วนการเกษตร ผลักดันเกษตรปลอดภัย อินทรีย์ ในส่วนเศรษฐกิจชาวบ้าน ชุมชน หน่วยงานที่รับผิดชอบคือกรมพัฒนาชุมชน มีการทำตัวชี้วัดของ SME วิสาหกิจย่อย พัฒนาผู้ประกอบการรายย่อยที่ผ่าน อย. เช่น ข้าวปลอดสารพิษ ข้าวแต๋นแตงโม โดยการหาช่องทางการตลาด ให้คนเหล่านี้สมัครเข้ามา ร่วมกับ ธกส. เปิดหน้าร้านให้เขามาขาย เพื่อหาช่องทางการจำหน่าย

          ประเด็นที่ห้า การทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจเมือง สำนักงานการคลังจังหวัด จะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ประกอบด้วย  ภาครัฐ กระทรวงการคลัง ธนาคารของรัฐ มีผู้ประกอบการประธานอุตสาหกรรม หอการค้า มหาวิทยาลัยลัย  ทำให้รู้เรื่องการเคลื่อนไหวเรื่องเศรษฐกิจของจังหวัด นอกจากนี้ ในส่วนอื่นยังมีกลไกคณะกรรมการ กรอ. ก็มีภาครัฐและเอกชน เป็นคณะกรรมการแบบบูรณาการ มีภาครัฐ มีประธานหอการค้า ประธานอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมืออย่างดี  นอกจากนี้ การทำงานกับมหาวิทยาลัย ได้มีการดึงมหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษาในการทำแผนพัฒนาจังหวัดลำปาง เช่น  ม.สวนดุสิต ม.ราชภัฎ ธรรมศาสตร์ศูนย์ลำปาง

          ประเด็นที่หก ช่องว่างของการพัฒนาเมืองลำปาง มีหลายประเด็น เช่น

  • เรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล ภาครัฐเองมีแนวคิดผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งส่วนใหญ่จะกลุ่ม start up ในจังหวัดลำปางที่กำลังเติบโต แต่ภาครัฐมีข้อจำกัดของงบประมาณ ไม่สามารถสนับสนุนภาคเอกชน หรือพวก start up ได้ พวกเขาอยากทำโครงการเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ๆ  อยากของบประมาณสนับสนุน แต่หลักเกณฑ์และเงื่อนไข ไม่สามารถสนับสนุนเอกชนโดยตรง ยกเว้นทำร่วมกับรัฐ  และภาครัฐต้องปรับแนวคิดด้วย
  • การเก็บข้อมูล เรื่องเศรษฐกิจฐานราก เพิ่งเริ่มเก็บยอดขาย วิสาหกิจชุมชน ฐานข้อมูลยังมีน้อย
  • อุปสรรคทางกฎหมาย เช่น สำนักงานจังหวัดลำปางต้องการเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ป่าไม้ แต่ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีกรมป่าไม้เป็นเจ้าของอยู่ จังหวัดอยากจะพัฒนาแม่น้ำวังก็มีกรมเจ้าท่าเป็นเจ้าของ ไม่ได้รับการอนุญาตให้ทำได้ทันที ต้องรออนุญาต ทำให้ล่าช้าไปหมด ติดกระบวนการขั้นตอนกฎหมาย ทำให้ทำงานไม่สะดวกนัก
  • แหล่งน้ำไม่ค่อยพอ อุปสรรคสำหรับภาคเกษตร

 

 

Related Posts