Events

การพัฒนาเมืองอุดรธานี : มุมมองจากภาคประชาสังคม

ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ภายใต้โครงการวิจัย การศึกษาทบทวนนโยบายเศรษฐกิจเมืองของไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและเกื้อกูล ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. และหน่วยงาน บพท.ได้จัดเวทีเมือง เรื่อง การพัฒนาเมืองอุดรธานี : มุมมองจากภาคประชาสังคม  ในวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เวลา 13.30 - 15.00 น. ผ่านการประชุมออนไลน์  พูดคุยกับ ผศ.ดร. พิชัย เอื้อมธุรพจน์ ผู้ก่อตั้งมาดีอีสาน กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับพื้นที่พูดคุยในเมืองอุดรธานี

ร่วมแลกเปลี่ยนโดย

คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

ผศ.กัลยาณี พรพิเนตพงศ์ นักวิชาการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

คุณณัฐธิดา เย็นบำรุง นักวิจัยศูนย์ศึกษามหานครและเมือง 

อ.ปพิชญา แซ่ลิ่ม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

ในการพูดคุย ผศ.ดร. พิชัย เอื้อมธุรพจน์ ได้ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเมืองอุดรธานีวันนี้ หลายประเด็น ดังนี้  

ประเด็นแรก เศรษฐกิจเมืองอุดรธานี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเศรษฐกิจเมืองอุดรธานีขับเคลื่อนโดยภาคเอกชนเป็นหลัก ภาคเอกชนเข้มของอุดรธานีมีความเข้มแข็งมาก มีหลายกลุ่มทั้งพ่อค้าจีน กลุ่มพ่อค้าเวียดนาม กลุ่มหอการค้า กลุ่มสภาอุตสาหกรรม กลุ่มค้าปลีก ในแง่หนึ่ง อุดรธานีเองก็เติบโตจากต่างชาติด้วย มีหลายชาติเข้ามาอยู่ที่เมือง เช่น ทหารอเมริกา คนจีน คนเวียดนาม ดัชนีตัวชี้วัดหนึ่งคือ  villa market (ห้างที่ขายสินค้าต่างประเทศ) ก็เติบโตที่นี่มาก เป็นรองจากเชียงใหม่เท่านั้น ความน่าสนใจของเศรษฐกิจอุดรธานีปัจจุบัน คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย event based มีการจัดงานขนาดใหญ่ค่อนข้างคึกคักในอุดรธานีมากมาย ส่วนหนึ่งกำลังมุ่งไปเป็นเมือง MISE กำลังจะมีการจัดงานใหญ่ 2 งาน คือ งานพืชสวนโลก งานจักรยานของโลก (ตูร์เดอฟร็องส์) 

ประเด็นที่สอง อนาคตเศรษฐกิจเมืองอุดรธานี ในอนาคตอุดรธานีกำลังกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรมด้วย มีโรงงานทางเกษตรมาเปิด เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานยางพารา และอุดรธานีกำลังจะเปิดนิคมอุตสาหกรรม ที่มีการลงทุนจากต่างชาติ เช่น เกาหลี จีน  ส่วนหนึ่งมีปัจจัยกระตุ้นจากภายนอกอย่างยุทธศาสตร์ BRI ของจีน กำลังจะเป็นจุดเปลี่ยนของอุดรธานีอีกครั้ง มีความตื่นตัวของเมืองที่รองรับการเข้ามาของ ยุทธศาสตร์ BRI

ประเด็นที่สาม นโยบายส่วนกลางที่เป็นจุดเปลี่ยนของอุดรธานี ที่เห็นชัดคือนโยบายการสร้างถนนมิตรภาพ เชื่อมกับภูมิภาคอีสาน ทำให้จังหวัดอุดรธานีจึงกลายเป็นจังหวัดลำดับ 3 ของอีสาน  ในระยะ 7 ปีหลัง มีสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (Thailand Convention and Exhibition Bureau) ที่จะดึงพืชสวนโลกเข้าอุดรธานี นอกจากนี้ ในอนาคตจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงที่กำลังจะสร้าง ที่กำลังจะสร้างเชื่อมอีสานกับลาวและจีน

ประเด็นที่สี่ บทบาทของประชาสังคมต่อการพัฒนาเมืองอุดรธานี ภาคประชาสังคมในเมืองมีหลายส่วน ส่วนสำคัญ คือ กลุ่มภาคเอกชน ที่รวมกันหลายกลุ่ม ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง ในส่วนของภาคประชาชน จะมีกลุ่มมาดีอีสาน ที่ทำหน้าที่หาพื้นที่ให้กลุ่มต่างๆ พูดคุยกันมากขึ้น เช่น สร้างเวทีอุดร 2029 เวทีสร้างกฎบัตรเมืองอุดรธานี เพื่อให้คนมาออกแบบอนาคตร่วมกัน ออกแบบตัวชี้วัดเมืองที่ดีของอุดรธานี เป็นต้น และออกทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม เช่น ช่วยผู้ติดโควิด ผู้ป่วยมะเร็ง เป็นต้น  ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและประชาชน ถ้าตอบในมุมของภาครัฐก็มองว่าร่วมมือกันดี แต่หากมองในมุมภาคประชาชนก็คิดว่ายังมีช่องว่าง ที่ยังไม่ได้คุยกันได้แนบสนิท มีเส้นกั้นอยู่

ประเด็นที่ห้า ช่องว่างหรือปัญหาของการพัฒนาเมืองอุดรธานี ด้วยอุดรธานีเป็นเมืองเศรษฐกิจตอนบนของภาคอีสาน ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเร็วทางเศรษฐกิจ ซึ่งก่อผลดี แต่ทั้งนี้ยังมีผลกระทบและช่องว่างที่รอการพิจารณาแก้ไข ดังนี้

  • การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมือง เช่น โรงงานน้ำตาล โรงงานยางพาราที่เข้ามา
  • การพัฒนาเมืองทั้งของอุดรธานี รวมไปการพัฒนาของเมืองอื่นๆ ดูเหมือนจะพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ของคนนอก เช่น นักลงทุน นักท่องเที่ยว ให้พอใจในการเข้ามาในเมือง แต่จะทำอย่างไรให้กระแสการพัฒนาเมืองเป็นไปในทางที่ตอบโจทย์ของคนในเมืองนั้นจริงๆ ที่ไม่ใช่เพื่อคนอื่น สิ่งเหล่านี้เป็นช่องว่างที่จะยังขาดในการพัฒนาเมือง โดยเฉพาะ "พื้นที่" สำหรับการพูดคุยของคนในเมือง
  • สถาบันการศึกษาเองยังปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเมือง เพราะเมืองเปลี่ยนเร็วมาก
  • ในอนาคตกลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมาก เพราะการพัฒนาของจีนที่มาทางอีสาน จะทำให้รถสิบล้อจะเข้ามามาก แล้ววิ่งเลนเดียวกับรถปกติ ถนนแคบ คนจะตายอีกมาก หากไม่ป้องกันหรือออกแบบถนนใหม่

ประเด็นสุดท้าย ความคาดหวังของภาคประชาสังคม ภาคประชาสังคมมาจากหมวด NGO เขาอยากทำให้ฐานพีระมิดอยู่กันได้ เพราะพีระมิดเศรษฐกิจประกอบด้วยคนหลายๆ ส่วน กลุ่มคนที่เป็นฐาน คนชั้นกลาง กลุ่มหัวพีระมิด เขาจึงคาดหวังว่าชั้นกลางกับชั้นฐานสามารถเอื้อประโยชน์กันได้บ้าง ในมุมมองของภาคประชาสังคมที่เป็นสาย Social Enterprise อาจจะมองว่า จะสร้างโอกาสใหม่ที่จะเปลี่ยนตอนกลางของพีระมิดให้สามารถที่จะตอบโจทย์ฐานของพีระมิดให้ดีขึ้นได้อย่างไร โดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

Related Posts