Events

การพัฒนาเมืองอุดรธานี : มุมมองจากภาครัฐ

 

ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง ภายใต้โครงการวิจัย การศึกษาทบทวนนโยบายเศรษฐกิจเมืองของไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนและเกื้อกูล ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริม ววน. และหน่วยงาน บพท.ได้จัดเวทีเมือง เรื่อง การพัฒนาเมืองอุดรธานี : มุมมองจากภาครัฐ  ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 เวลา 14.00 - 15.00 น. ผ่านการประชุมออนไลน์  พูดคุยกับ คุณวิชา จันทร์กลม ผอ.กลุ่มงานบริหาร ยุทธศาสตร์ กลุ่มงานจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

 

ร่วมแลกเปลี่ยนโดย

คุณยุวดี คาดการณ์ไกล ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

ผศ.กัลยาณี พรพิเนตพงศ์ นักวิชาการศูนย์ศึกษามหานครและเมือง

คุณณัฐธิดา เย็นบำรุง นักวิจัยศูนย์ศึกษามหานครและเมือง 

อ.ปพิชญา แซ่ลิ่ม อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

 

          ในการพูดคุย คุณวิชา จันทร์กลม ได้ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเมืองอุดรธานีวันนี้และอนาคต หลายประเด็น ดังนี้  

ประเด็นแรก การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจเมืองอุดรธานี ที่ผ่านมา อุดรธานี มีจุดเปลี่ยนทางเศรษฐกิจ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 ตอนสมัยสงครามเวียดนาม มีฐานทัพอเมริกามาตั้งถิ่นฐานจำนวนมาก ทำให้เกิดการจับจ่ายในเมืองอุดรธานี ครั้งที่ 2 หลังพ.ศ. 2558 หลังอาเซียนเปิด AEC ประเทศเพื่อนบ้านเชื่อมโยงกับไทยมากขึ้น แต่ทั้งนี้ประเทศเพื่อนบ้านเติบโตไม่ทันต่อการลงทุน ทำให้อุดรธานีรับการลงทุนจากต่างประเทศ เพราะอุดรธานีมีทำเล มียุทธศาสตร์ที่ตั้งที่ดีมาก เป็นศูนย์กลางภาคอีสาน และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ปัจจุบันอุดรธานีพึ่งพิงเศรษฐกิจในด้านการค้าปลีก ค้าส่ง มีตลาดค้าขายสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน คือตลาดเจริญทองศรี รวมไปถึงพึ่งพิงด้านบริการด้วย อุดรธานีมีอัตราการขยายตัวของเมืองสูงมาก ส่วนหนึ่งเพราะภาคเอกชนเข้มแข็งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาโดยตลอด

ประเด็นที่สอง นโยบายส่วนกลางที่เป็นจุดเปลี่ยนของอุดรธานี ส่วนใหญ่เป็นนโยบายการสร้างโครงสร้างพื้นฐานภาพใหญ่ เช่น การขยายถนน  สนามบิน สร้างเทอมินอลที่ 2 อย่างไรก็ตาม ปัจจัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุดรธานี อยู่ที่กลุ่มภาคเอกชนมากกว่า การเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ ทำได้ค่อนข้างช้า ภาพไม่ชัด เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เกิดการบูมเพราะการปั่นขึ้นมา แต่ตัวเนื้อหาหรือโครงการรูปธรรม ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงหรือคืบหน้า ปัจจุบันโครงการจากรัฐส่วนกลางจะเป็นในทิศทางการพัฒนาสินค้า เช่น จังหวัดอุดรธานีร่วมมือกับสวทช. พัฒนาสินค้าในเมืองกว่า 20 ชนิดเป็นต้น ในแนวคิดการพัฒนาแบบ BCG เป็นต้น

ประเด็นที่สาม แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจเมืองของจังหวัดอุดรธานี จากยุทธศาสตร์ของจังหวัดอุดรธานีมีการพัฒนาเศรษฐกิจอยู่ 3 เรื่องหลักๆ คือ 1. สนับสนุนการค้า สร้างตลาดร่มเขียว ตลาดจริงใจ ให้คนมีพื้นที่แลกเปลี่ยนสินค้ามากขึ้น 2. สนับสนุนเรื่องเกษตรอินทรีย์ เกษตรปลอดภัย ให้เกษตรกรสามารถใช้เทคโนโลยีในการทำเกษตรมากขึ้น รวมไปถึง การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร 3. สนับสนุนเศรษฐกิจภาคบริการ ในแนวเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่างๆ เช่น ธุรกิจ MISE  ธุรกิจกีฬา สนับสนุนกีฬาที่ช่วยให้คนเมืองสุขภาพดี ทำงานร่วมกับภาคเอกชน สนับสนุนธุรกิจ MISE ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น รวมไปถึงการท่องเที่ยวทางธรรมมะ วัฒนธรรม เพราะอุดรธานีมีวัดมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของประเทศ

ประเด็นสุดท้าย ความคาดหวังในอนาคตในการพัฒนาเมืองอุดรธานี ในฐานะตัวแทนภาครัฐ คาดหวังให้อุดรธานีมีการพัฒนาในหลายประเด็น เช่น

- อยากพัฒนาตลาดเมืองทองเจริญศรี ตลาดสินค้าเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในอุดรธานีให้เป็นตลาดโมเดินท์เทรด (Modern trade)

-การพัฒนากลไกในระดับจังหวัดรูปแบบใหม่ ที่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ ซึ่งตอนนี้ยังขาดกลไกเหล่านี้ ปัจจุบันใช้เพียงกลไก กรอ. เท่านั้น

- ดึงพลังจากสมาคมคนเวียดนาม กลุ่มคนจีน ให้สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านได้

- ทำอย่างไรให้คนเป็นเจ้าของเมือง?

- อยากให้ภาคเอกชนทำงานในลักษณะ social enterprise มากยิ่งขึ้น ให้ชุมชนเป็นหนึ่งใน supplier ของธุรกิจ ชุมชนจะได้รับประโยชน์มากยิ่งขึ้น

- การพัฒนาที่เชื่อมโยงระหว่างจังหวัดให้มากขึ้น เช่น การเชื่อมกับจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น

- อยากให้สภาพัฒน์ฯ ทำงานสนับสนุนพื้นที่ให้มากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสภาพัฒน์ฯ ให้ทิศทางการพัฒนาประเทศและระดับภาคได้ดี แต่การสนับสนุนยังไม่มากพอ  

 

Related Posts