Workshops

สุมหัวคุยเรื่องเมืองกับคนตรัง 2 ชีวิตสาธารณะ : ที่ที่สามกับชุมชนทางวัฒนธรรมร่วมสมัยของคนต่างรุ่นในนครตรัง

อภิชญา โออินทร์

 

 

 

วันนี้ผู้เขียนขอหยิบยกบทเสวนาระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2561 ในชื่อว่า “เสวนาชีวิตสาธารณะ: ที่ที่สามกับชุมชนทางวัฒนธรรมร่วมสมัยของคนต่างรุ่น” เป็นวงพูดคุยที่รวมเอาผู้พิการ นักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบายเมือง และคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตในเมืองมานั่งสนทนากัน

นอกจากผู้ที่มีบทบาทหน้าที่อันโดดเด่นในทางสังคม การเมือง และวิชาการของนครตรังแล้ว ผู้เขียนได้ตามหาคนรุ่นใหม่ซึ่งมีแนวคิดเรื่องเมืองที่น่าสนใจ แต่พวกเขาอาจจะคิดกันเงียบ ๆ คุยกันในหมู่เพื่อนมากกว่าจะมีโอกาสเสนออย่างเป็นทางการ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เขาได้มีโอกาสสื่อสารไอเดียสู่สาธารณะบ้าง

ผู้เขียนพบคนเหล่านี้จากช่องทางออนไลน์ พวกเขาติดต่อเข้ามาผ่านหน้าเพจ Facebook ชื่อ Intermingle in Trang ที่ผู้เขียนตั้งขึ้นเพื่อเป็นสื่อกลางในการประชาสัมพันธ์แบบสอบถามและกิจกรรมของโครงการวิจัย พวกเขาไม่ได้เป็นเยาวชนคนกล้าหรือเป็นสมาชิกสังกัดสภาเด็กและเยาวชนใด ๆ แต่เป็นคนที่สนใจเกี่ยวกับเมืองที่เขาอยู่ เขาประสบปัญหาในการใช้ชีวิตสาธารณะในเมืองแห่งนี้ และที่สำคัญเขามีข้อเสนอที่ควรรับฟัง ก่อนจะมาร่วมเสวนา เราคุยกันครั้งหนึ่งในกิจกรรมเชิงปฏิบัติการเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า “สุมหัวกันเรื่องเมือง” เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561[1]

จากวันนั้น ผู้เขียนจึงได้ชวนทศวัจน์ แพกุล นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย และภานุพงศ์ โยมเรือง นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มาเป็นตัวแทนกลุ่มในการบอกเล่าความฝันและความต้องการของคนรุ่นใหม่ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะของเมือง และเสวนาร่วมกับสุกานดา สุริยะรังษี ประธานชมรมคนพิการเทศบาลนครตรัง ตรีชาติ เลาแก้วหนู อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เกรียงศักดิ์ รัตนสิมานนท์ รองนายกเทศมนตรีนครตรัง และดำเนินรายการโดย สมัชชา นิลปัทม์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ลองอ่านดูนะคะว่าเราคุยอะไรกันบ้าง มีความคิดเห็นเพิ่มเติมอย่างไรก็เขียนมาบอกกันได้คะ

 

 
 
 

 

สมัชชา : ยินดีมาก ๆ ที่ได้มาร่วมงานที่เกี่ยวกับเมืองตรัง ผมมาในฐานะลูกหลานของเมืองตรัง ผมคิดว่างานวันนี้มันวางอยู่บนแนวคิดหลัก ๆ สองถึงสามเรื่องซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก เรากำลังจะพูดถึงเรื่องบ้าน เรื่องเมือง และเรื่องผู้คน งานเสวนานี้จึงถูกผนวกเข้ากับกิจกรรมประชาพิจารณ์การกำหนดขอบเขตเมืองเก่าทับเที่ยงของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้ เพราะมีความเกี่ยวโยงกัน

 

 

วันนี้ผู้วิจัยชวนผมมาเป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาที่ใช้ชื่อว่า “ชีวิตสาธารณะ: ที่ที่สามกับชุมชนทางวัฒนธรรมร่วมสมัยของคนต่างรุ่น” งานวิจัยนี้เล่นกับแนวคิดเรื่อง “ที่ที่สาม” (Third Place) บางคนก็ใช้คำว่า “พื้นที่ที่สาม” (Third space) มันมีมโนทัศน์บางอย่างว่า มนุษย์มีที่หลัก ๆ อยู่ 2 ที่ หนึ่งคือบ้าน ซึ่งถูกนับว่าเป็นที่ที่หนึ่ง อีกที่หนึ่งคือ โลกแห่งการใช้ชีวิตและการทำงานการเรียน นับเป็นที่ที่สอง จริง ๆ แล้วเราไม่อยู่กับที่ที่หนึ่งและสองเท่านั้น แต่ยังมีพื้นที่อื่นอีกที่ปลอดจากครอบครัวและภาระการงาน เป็นที่ที่รวมตัวกัน พบปะกับชุมชน ผู้คนหลากหลาย โจทย์ของเราก็คือว่า พื้นที่ตรงนั้นมันอยู่ตรงไหน เหมือนกับกิจกรรมเวิร์คชอปก่อนหน้านี้ เราก็พยายามก็จะหาคำอธิบายมัน

แต่ปัญหาของที่ที่สามหลัก ๆ ก็คือว่า พื้นที่ที่สามมีความหมายของ “ชุมชน” อยู่ แต่ปัจจุบันอาจจะเป็นชุมชนที่ไม่เหมือนกับที่เราเคยรู้จัก เมื่อก่อนความเข้าใจเรื่องชุมชนมักผูกอยู่กับความเป็น “ชุมชนหมู่บ้าน” ซึ่งเป็นสิ่งที่เข้าใจกันในโลกยุคหนึ่ง แต่ในโลกยุคใหม่ ประชากรมีความหลากหลายกระจัดกระจาย ยังมีชุมชนอีกแบบหนึ่ง ในความหมายว่า เป็นชุมชนของการสนใจอะไรร่วมกัน พบปะผู้คนหลากหลาย เช่น คนชอบรถเก่าก็พบกันในชุนชนคนรักรถเก่า คนชอบกันดั้มก็ถือเป็นสมาชิกชุมชนกันดั้ม ซึ่งงานวิจัยเรียกชุมชนแบบนี้ว่า “ชุมชนทางวัฒนธรรม” พื้นที่แบบนั้นอยู่ที่ไหน มีหน้าที่อะไร และมันควรจะทำอะไรได้บ้าง

วันนี้เรามีผู้เข้าร่วมพูดคุยกันถึง 5 ท่าน หลากหลายทั้งช่วงอายุและบทบาทด้วยนะครับ

เบื้องต้นขอให้อาจารย์ตรีชาติพูดถึงโจทย์วันนี้ ว่าพื้นที่ที่สาม พื้นที่รวมตัวอย่างไม่เป็นทางการเหล่านี้ มันเหมาะสมตามความต้องการของชุมชนในโลกยุคใหม่อย่างไร

ตรีชาติ : แนวความคิดเรื่อง third place มันเริ่มมาจากแนวความคิดในการพัฒนาเมืองหลาย ๆ ความคิด เช่น “อุทยานนคร” ของ Ebenezer Howard ที่พูดถึงการเพิ่มพื้นที่สาธารณะให้คนในเมืองมีโอกาสที่จะปะทะสังสรรค์กันทางสังคมมากขึ้น สอดคล้องกับแนวคิด “ละแวกบ้าน” (Neighbourhood concept) ซึ่งในอดีตแนวคิดนี้เป็นที่นิยมมาก เนื่องจากเน้นพื้นที่สาธารณะที่คนจะร่วมกันแสดงออกถึงอะไรบางอย่างทางสังคม มีการปะทะกันทางสังคมชัดเจนมาก แต่แนวคิดนี้ก็เริ่มลดบทบาทลง เพราะคนรุ่นใหม่มีที่ว่างเสมือนจริงที่อยู่ใน online social network เราอาจจะไปปะทะสังสรรค์กันทางสังคมในนั้นมากขึ้น กลุ่มชุมนุมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสนใจเฉพาะทาง ก็ไปอยู่ใน social network อย่าง เฟสบุ๊ค ทวิตเตอร์ มากขึ้น

จริง ๆ พื้นที่ทางสังคม (social space) เป็นหนึ่งในเรื่องจิตวิทยาสถาปัตยกรรม ถ้าศึกษากันลึก ๆ เราจะแบ่งเป็นพื้นที่ส่วนตัวคือพื้นที่ในบ้าน และพื้นที่ที่เราอยู่กับคนรอบ ๆ ข้าง แต่ก่อนคือเป็นรูปแบบพื้นที่กายภาพที่จะต้องมีที่ว่าง ในเมืองหนึ่งจะต้องจัดแบ่งพื้นที่ให้คนทำกิจกรรมได้ ยุคนี้มันกลายเป็นรูปแบบพื้นที่เสมือนจริง (virtual space) ทำให้เป็นกระบวนทัศน์ของการออกแบบที่ว่างเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตาม ผมก็เชื่อว่า การใช้ที่ว่างทางกายภาพหรือที่ว่างที่มีอยู่จริง เห็นหน้ากันจริง ๆ ยังคงเป็นพื้นที่เมืองที่มีความสำคัญในการสร้างการปะทะสังสรรค์ระหว่างบุคคลต่างวัย ซึ่งจะต้องมาใช้ชีวิตร่วมกัน

 

 
 

กระบวนทัศน์เรื่องพื้นที่ทางสังคมของคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่อาจจะต่างกัน คนรุ่นเก่าใช้ที่ว่างสำหรับกิจกรรมที่หลากหลายในขณะที่คนรุ่นใหม่ใช้สำหรับกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจงและใช้ที่ว่างเสมือนจริงมากกว่าอย่างไรก็ตาม ในการวางแผนพัฒนาเมือง การสร้างที่ว่างทางสังคมเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ก็ยังคงเป็นบทบาทที่สำคัญของนักพัฒนาเมือง

เมื่อเราออกแบบสถาปัตยกรรมหรือชุมชนเมือง เราต้องรู้ว่ากิจกรรมของเมืองเกิดขึ้นที่ไหน มีกิจกรรมอะไรบ้าง ผู้ใช้เป็นคนประเภทไหน รุ่นไหน แต่ละกลุ่มสร้างกิจกรรมอะไรในเมือง ทั้งนี้เพื่อให้การออกแบบสถาปัตยกรรมเมืองมีความสอดคล้องกับพื้นที่ทางสังคมเหล่านั้น ในฐานะสถาปนิกเราจึงไม่ได้ออกแบบตัวอาคารเพียงอย่างเดียว แต่ต้องวิเคราะห์ด้วยว่สถาปัตยกรรม มีความสำคัญกับพื้นที่สาธารณะในเมืองอย่างไร สถาปัตยกรรม นั้นจึงจะเอื้ออำนวยให้คนสามารถใช้พื้นที่สาธารณะในเมืองให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง

โดยสรุป แม้พื้นที่ทางสังคมจะถูกผลักให้ไปอยู่ในโลกเสมือนมากขึ้นแล้วก็ตาม แต่การปฏิสัมพันธ์กันต่อหน้าในพื้นที่ของโลกจริงก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ทุกเพศทุกวัย เป็นที่มาของการเสวนาในวันนี้ว่า ทำไมเราต้องออกแบบพื้นที่สาธารณะเพื่อให้เกิดชีวิตสาธารณะในเมือง

สมัชชา : อาจารย์ได้ย้ำว่า แม้คนรุ่นใหม่จะเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนมากขึ้น แต่เมืองก็ยังจำเป็นต้องมีพื้นที่สาธารณะที่ให้คนได้พบปะกันจริง ๆ ด้วย และก็จะต้องเป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมคนต่างรุ่นได้ด้วย ผมขอถามต่อมายังคนรุ่นใหม่ ทราบว่าภานุพงศ์เป็นคนต่างจังหวัดที่มาเรียนอยู่ในเมืองตรัง เวลาเราเจอคนใหม่ ๆ คำถามแรกก็จะมีว่า เอ้ เป็นคนบ้านไหน ผมก็อยากรู้ว่าในฐานะคนที่มาอยู่ตรัง เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนในเมืองตรังอย่างไร แล้วพื้นที่ที่มีอยู่มันเพียงพอสำหรับพวกเราไหม เราต้องการอะไร อย่างไร

ภานุพงศ์ : วันนี้ดีใจมาก ๆ ที่มีเวทีให้ผมได้เสวนากับคนหลายรุ่น ผมไม่ได้เป็นคนตรังแต่มาเรียนที่นี่ประมาณ4 ปีแล้ว บ้านเกิดอยู่พังงา จบการศึกษาระดับมัธยมจากนครศรีธรรมราช ได้มีโอกาสย้ายไปอยู่หลายจังหวัด สี่ปีที่ผ่านมา ผมเองก็ถือว่าเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตและมีส่วนร่วมอยู่ในตรังมากกว่าอยู่ที่บ้านเกิด ตรังเป็นเมืองที่มีเอกลักษณ์ในตัวเองอยู่แล้วคือ อาหารการกินหลากหลาย ตึกรามบ้านช่องที่สวยงาม ที่เข้ามาแล้วรู้สึกว่าชีวิตมันช้า ๆ และน่าอยู่ ผมเป็นนักศึกษา เวลาว่างผมก็ต้องการพื้นที่ในการพัฒนาความคิด เจอสังคม เจอเพื่อน แต่สุดท้ายแล้วผมเลือกที่จะไปร้านกาแฟ เมื่อเมืองขยายขึ้นเรื่อย ๆ พื้นที่ทางการพาณิชย์มันเติบโตมาก ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่ ร้านกาแฟที่ผุดขึ้นมากมาย แต่ถามว่าทำไมผมไม่เลือกมาใช้อาคารหรือพื้นที่สาธารณะที่รัฐจัดให้บริการไว้แล้ว ผมขอพูดตรง ๆ ว่า พื้นที่ที่เป็นทางการของรัฐ เช่น อาคารอเนกประสงค์ที่เราอยู่นี้ ยังไม่มีพื้นที่ที่ตอบโจทย์ของเราเท่าใดนัก มันยังไม่มีบรรยากาศที่จะเหมาะกับไลฟ์สไตล์ให้เราเข้ามาทำกิจกรรม ผมก็เลยเลือก co-working space เพื่อไปนั่งทำงาน คิดงานกับเพื่อนมากกว่า

 

 
 
 

มีเวทีวันนี้แม้ผมจะไม่รู้เรื่องการบริหารจัดการเมืองเท่าใดนัก แต่ในฐานะที่เป็นนักศึกษาสถาปนิก สิ่งที่ผมอยากให้เกิดขึ้น คือ มีพื้นที่ที่เป็นศูนย์รวมของวัยรุ่น แน่นอนว่าตรังไม่ได้มีเฉพาะวัยรุ่น แต่ที่ที่เป็นศูนย์รวมหรือที่เรียกว่า พลาซ่า มันจะต้องเป็นที่รวมตัวของคนทุกวัยและจะต้องไม่ลืมวัยรุ่นในนั้น เพราะการเรียนรู้ไม่ได้เกิดจากแค่ไปเปิดหนังสือ เปิดอินเตอร์เน็ต แต่มันเกิดจากการกระตุ้นพลังหรือทัศนคติของกันและกัน วันไหนผมรู้สึกไม่มีแรงจูงใจอยากทำงานเลย แต่แรงจูงใจมันจะเกิดขึ้นเพราะมีบริบทของสภาพแวดล้อมที่คนมาทำงานร่วมกัน เราเลือกที่จะไปร้านกาแฟเมื่อเจอโต๊ะนั้นนั่งทำงาน คนนี้ก็ทำงาน ก็ทำให้เรารู้สึกอยากทำงานด้วย เกิดการกระตุ้นปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันโดยไม่รู้ตัว

ผมอยากให้มีพื้นที่นั่งทำงานด้วยกัน มีเวทีให้แสดงไอเดีย อาจจะเป็นไอเดียด้านดนตรี ศิลปะ อยากให้มีเวิร์คชอปสเปซ (Workshop space)ให้คนที่สนใจบางอย่างเหมือน ๆ กันมาทดลองทำกิจกรรม เช่น ผมชอบถ่ายรูป ก็ต้องหาเพื่อนที่ชอบเหมือนกัน แต่ผมยังหาไม่เจอเลยว่าในตรังที่แบบนั้นมันอยู่ที่ไหน พื้นที่แบบนี้มันสำคัญกับการพัฒนามนุษย์ เราพูดถึงสังคมผู้สูงอายุกันมากแต่รู้หรือไม่ว่าอนาคตอันใกล้นี้ วัยรุ่น 1 คน ต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุถึง 6 คน ผมจึงคิดว่า การเสริมสร้างศักยภาพของเยาวชนและคนรุ่นใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญพอ ๆ กับการเตรียมพื้นที่และสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ และเมืองก็มีหน้าที่นี้ด้วย ขอยกตัวอย่าง ผมไปดูมาที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เขาสร้างเป็น “ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา” หรือ Knowledge Centre of Chacheongsao (KCC)[2]มีพื้นที่ดนตรี มีจตุรัสนัดฝัน ให้ทุกคนมาอยู่ร่วมกัน ดูว่าใครทำกิจกรรมอะไร นอกจากนี้ มีตัวอย่างจากต่างประเทศที่ผมไปอ่านมา เช่น ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้จัดตั้งศูนย์ไดนาโม(Dynamo)[3]เป็นห้องทดลองทางสังคม (Social Lab) ให้วัยรุ่นได้ไปทดลองทำกิจกรรมที่สนใจและพัฒนาทักษะที่จำเป็น จริง ๆ แล้วตรังมีเราโรงเรียนและมหาวิทยาลัยเยอะมาก ถ้าพัฒนาขึ้นมาก็น่าจะมีผู้เข้ามาใช้พื้นที่แบบนี้เยอะ

สมัชชา : ในฐานะนักเรียนสถาปนิก พื้นที่อย่างที่อยากให้มีมันควรจะเป็นแบบไหน ควรจะมีโครงสร้างพื้นฐานอะไรรองรับบ้าง

ภานุพงศ์ : ผมมองว่า ตรังมีพื้นที่สาธารณะอยู่เยอะแล้ว อย่างจุดต่าง ๆ ในแผนที่ที่เราแปะสติ๊กเกอร์ก็มีอยู่มากมาย เราอาจจะใช้การเชื่อมโยงให้เป็นพลาซ่า เราไม่จำเป็นต้องสร้างอาคารใหม่ แต่ถ้าจะมีอาคารใหม่หรือปรับปรุงอาคารเดิม มันต้องตอบโจทย์ลักษณะอาคารให้ดึงดูดคนเข้าไปใช้งาน ไม่ให้ความรู้สึกเป็นทางการมากเกินไป และต้องมีการขนส่งสาธารณะให้เข้าถึงได้ ยกตัวอย่าง พื้นที่ห้องสมุดปัจจุบันมันค่อนข้างล้าสมัย วัยรุ่นสมัยนี้ ไม่ได้ต้องการพื้นที่ที่เงียบเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องการพูดคุยกับเพื่อนด้วย ถ้ามาแล้วพูดคุยไม่ได้ก็เลยเลือกที่จะไม่มาใช้ แล้วจะทำอย่างไรให้ห้องสมุดสามารถปรับตัวเข้ากับพฤติกรรมของคนในยุคปัจจุบันได้

 

 

สมัชชา : มีประเด็นน่าสนใจ โดยหลักแล้ว พื้นที่ทางราชการจะกำหนดไว้ว่าเป็นพื้นที่ที่ทุกคนสามารถใช้ได้ เพราะเป็นพื้นที่ที่สาธารณชนเป็นเจ้าของ แต่ทำไมในทางปฏิบัติมันจึงดูเหมือนถูกสงวนไว้สำหรับงานราชการเท่านั้น ไม่มีคนทั่วไปเข้าไปใช้ทำกิจกรรมที่นอกเหนือจากราชการกำหนด ที่ภานุพงศ์สะท้อนมาทำให้เราเห็นว่า มันเป็นเรื่องของ image เรื่องความรู้สึกมากกว่ากฎระเบียบ โดยส่วนใหญ่มันจะมีกำแพงบางอย่างอยู่ในใจที่ทำให้คนธรรมดาไม่กล้าเข้ามา อาจจะเป็นโจทย์ทั้งเรื่องการออกแบบและการสื่อสารของหน่วยงานราชการด้วย จะทำอย่างไรให้สามารถทลายกำแพงนั้นได้ จะเปลี่ยนรูปลักษณ์อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ ที่ภานุพงศ์ยกตัวอย่างห้องสมุดผมก็คิดว่าน่าสนใจมาก เพราะห้องสมุดทุกที่กำลังเผชิญความท้าทายอย่างต่อเนื่อง เมื่อเนื้อหาและชีวิตคนอยู่ในหน้าจอต่าง ๆ มากขึ้นก็ทำให้คนสนใจอ่านหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์น้อยลง จะเห็นว่าห้องสมุดทั่วไปต้องปรับตัวอย่างมากเพื่อจะดึงดูดให้คนเข้ามาใช้งาน เช่น การจัดโซนเงียบ โซนเสียงดัง เปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกของห้องสมุดรวมถึงสื่อที่มีอยู่ในนั้นก็จะต้องเปลี่ยนไปด้วย นี่ก็เป็นโจทย์ที่น่าสนใจสำหรับผู้บริหารเมือง นักออกแบบ และตัวผู้ใช้เอง

ลำดับต่อไป ผมขอฟังความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่กว่าอีกหน่อย วัยตามกันมาติด ๆ กับภานุพงศ์เลยนะครับ น้องทศวัจน์ครับ

ทศวัจน์ : สวัสดีพี่ ๆ ทุกคน สำหรับผมที่เข้ามาในการประชุมครั้งนี้ ก็อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สาธารณะหลายที่ในจังหวัดตรัง ส่วนใหญ่เราเป็นนักเรียน หน้าที่ก็บอกอยู่แล้วว่าต้องเรียน เราก็จะอยู่กันแต่ที่โรงเรียนและที่เรียนพิเศษ แต่เมื่อเราเรียนเสร็จแล้วเราก็อยากไปตามที่ต่าง ๆ เพื่อทำกิจกรรมที่เราชอบด้วย เช่น ห้างสรรพสินค้า สนามกีฬา ตลาดต่าง ๆ โดยส่วนตัวของผมและเพื่อนหลาย ๆ คน เราไม่มีรถยนต์ส่วนตัวหรือพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง ก็ไม่สามารถไปสถานที่ที่ต้องการเพื่อรวมกลุ่มกับคนที่สนใจเรื่องเดียวกับผมได้อย่างสะดวก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานที่ต่าง ๆ มีความห่างไกลกันมาก จึงอยากให้มีการจัดการเรื่องระบบขนส่งสาธารณะที่ดีกว่านี้ ด้วยความที่ผมไม่มีรถ ก็ไม่สามารถเดินทางจากที่เรียนไปพื้นที่สาธารณะเอง ไม่มีอิสระ

 

 
 

 

ผมคิดว่า การจะทำให้พื้นที่สาธารณะหนึ่งมีการรวมกลุ่มและเกิดสังคม จะต้องจัดการให้มีการเดินทางที่ดีก่อน มีจุดสนใจที่ทำให้คนที่มีความสนใจเรื่องต่าง ๆ เดินทางไป ไม่เช่นนั้นพื้นที่นั้นก็จะแต่คนเฉพาะกลุ่มที่เข้าถึงได้เท่านั้นแม้จะเป็นของสาธารณะก็ตาม โดยส่วนตัวผมเป็นนักเรียนอาจจะทำอะไรไม่ได้มาก แต่ผมอยากสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตของนักเรียน

สมัชชา: ประเด็นของทศวัจน์คือ ในเมืองที่มีนักเรียนและเยาวชนจำนวนมาก จะทำอย่างไรให้การเดินทางพื้นฐานอย่างเช่นการเดินและบริการขนส่งสาธารณะมันใช้การได้ดี ซึ่งก็ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่

ต่อไป ผมอยากฟังพี่สุกานดาว่า ในโลกสมัยใหม่นี้ พื้นที่แบบไหนที่จะทำให้เราได้อยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างมีศักดิ์ศรีบ้าง

สุกานดา : ถ้าถามว่า พื้นที่สำหรับคนพิการ อย่าคิดว่าคนพิการไม่ได้ใช้พื้นที่สาธารณะ เขาอยากออกมาสู่สังคม แต่พื้นที่สาธารณะมันไม่เอื้ออำนวยแก่เขา ยกตัวอย่าง พี่มาติดต่องานราชการ เคยส่งหนังสือมาแล้วว่า อาคารอเนกประสงค์นี้มันมีระดับชั้น บางทีไม่เจอใครก็ต้องนั่งรอให้คนมาช่วยยก ทางลาดที่มีอยู่ก็ยังใช้การไม่ได้ เพราะคนสร้างไม่ได้ใช้คนใช้ไม่ได้สร้าง มันเป็นทางที่ชันมาก มาคนเดียวไม่สามารถขึ้นได้ ถ้าถามว่า พื้นที่สาธารณะในนครตรังมันเอื้ออำนวยไหม มันก็มีแต่ยังไม่ครอบคลุมเท่าไหร่ เหมือนเวลาพี่ขับรถวิลแชร์บนถนนแล้วร้อนมาก ๆ อยากจะกินข้าวมันไก่ อยู่ตรงหน้าแล้ว แต่คนพิการไม่สามารถเข้าไปได้ เพราะมันมีระดับชั้นของฟุตบาทที่เราขึ้นไม่ได้ หิวแค่ไหนก็ต้องกลับบ้าน คือคนพิการมันมีปมในจิตใจ เราอายที่จะขอร้องให้คนช่วย คนในสังคมที่ใจดีก็มี แต่คนที่ไม่เอื้อคนพิการก็มี เราไม่รู้ว่าใครเป็นใคร

 
 

สถานที่ที่ให้คนพิการได้ออกมาสู่สังคมก็มีแต่ห้างสรรพสินค้า สวนสาธารณะก็ไม่เอื้อกับคนพิการ ไม่มีทางลาด สวนสาธารณะเพื่อคนพิการจริง ๆ ไม่มีนะคะ มีแต่ห้างฯ แล้วถามว่าคนพิการรวยขนาดต้องไปห้างทุกวันไหม ก็ไม่ใช่

หากสังคมจะตอบโจทย์ตรงนี้ คือสร้างอะไรที่มันเอื้ออำนวย ทำให้เราช่วยเหลือตัวเองได้ในพื้นที่สาธารณะ เท่ากับว่าเราได้มีศักดิ์ศรี เราคนพิการไม่ได้เป็นภาระของสังคม แต่เราอยากอยู่ภายใต้สังคมเดียวกันกับทุกคน จะอยู่อย่างไร สังคมต้องเอื้อเราด้วย เราไม่ได้ร้องขออย่างอื่นเลย เพียงแต่มีพื้นที่สาธารณะที่เอื้อให้เราบ้าง เราไม่อยากอยู่กับบ้าน อยู่บ้านมันก็เครียด เราไม่ได้อยากพิการ แต่เมื่อเราพิการแล้วเราก็อยากอยู่ร่วมกันกับคนอื่นด้วย

สมัชชา : ประเด็นของพี่สุกานดาเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก และที่ผมเอาประเด็นของท่านรองเกรียงศักดิ์ไว้ท้าย ไม่ได้ต้องการให้เวทีนี้เป็นเวทีร้องเรียนแต่อย่างใดนะครับ เพียงแต่คิดว่ามันถูกเริ่มด้วยประเด็นทั้งหลายและเทศบาลเป็นผู้ดูแลนโยบาย จึงอยากทราบว่า ข้อเสนอทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นจริงได้แค่ไหน

เกรียงศักดิ์ : สวัสดีทุกท่าน ก่อนหน้านี้ผมได้ให้สัมภาษณ์กับงานวิจัยนี้มาแล้วครั้งหนึ่ง วันนี้ก็ได้รับเชิญมาร่วมเสวนา ผมยินดีและเต็มใจอย่างยิ่ง ด้วยความหวังว่าในอนาคตน้อง ๆ ที่เรียนมาด้านนี้จะได้นำความรู้ที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมาพัฒนาบ้านเมือง วันนี้ที่ได้รับฟังมา ก็จะเป็นโจทย์ให้ทั้งหน่วยงานเทศบาลเองแล้วก็น้อง ๆ นักศึกษาด้วยที่จะได้ข้อคิดในการทำงานในอนาคตว่า เมื่อเราจะปลูกสร้างอาคารต่าง ๆ เราต้องคำนึงถึงผู้คนที่จะมาใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่น้องสุกานดาพูดถึงคนพิการ เรายอมรับว่า เทศบาลนครตรังมีอาคารเก่าที่สร้างมานานแล้วจำนวนหนึ่ง แต่ยุคนั้นเรายังไม่ได้กระตุ้น (ตระหนัก) เรื่องนี้ ซึ่งความจริงคนพิการนั้นมีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพียงแต่เราไม่ได้ตระหนักเรื่องนี้ มาปัจจุบันหน่วยงานราชการต่าง ๆ ทั่วประเทศก็พยายามทำทางลาดให้คนพิการแต่ก็ทำไปตามสภาพของอาคาร ซึ่งมันก็อาจจะไม่ได้ตามที่ต้องการ ก็ได้มอบให้สำนักการช่างได้คิดปรับปรุงแล้ว แต่อาคารใหม่ก็ได้มีการทำทางลาดของอาคารและอำนวยความสะดวกมากขึ้น

 
 

 

ในส่วนการทำงาน ส่วนตัวผม ผมอยากทำให้ทุกคนที่ขอร้องมา แต่ว่าผมไม่สามารถทำเองได้ ต้องสั่งการ มันเป็นเรื่องของระเบียบและขั้นตอนการทำงาน หากมีล่าช้าก็ต้องกำชับและเอาระเบียบราชการมาดำเนินการ อาจมีข้อขัดข้องไปบ้าง เทศบาลไม่เหมือนเอกชน เราทำอะไรไม่ได้ทันที บ่อยครั้งที่ติดขั้นตอนทางราชการมากมาย

ในความรู้สึกของผมเอง อยากจะช่วยทุกคนทุกฝ่ายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งวันนี้น้อง ๆ มา หลาย ๆ เรื่องที่รับฟังก็ได้จดเอาไว้และจะนำสิ่งเหล่านี้ไปพูดคุยกับทางสถาปนิกและทางสำนักงานช่าง เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไข แล้วก็ทำให้ถูกต้องตามที่ทุกคนต้องการ

กลับมาที่เรื่องพื้นที่ที่สาม ความจริงแล้วบริบทของจังหวัดตรัง พื้นที่ที่สามของคนตรังแต่โบราณมาคือร้านกาแฟ เช้ามาคนจะไปนั่งกันที่ร้านกาแฟ คุยเรื่องสัพเพเหระต่าง ๆ เป็นสภากาแฟ อีกที่หนึ่งก็คืองานศพ ไม่ใช่ไปนั่งฟังพระสวดเหมือนที่อื่น ไปนั่งกินอาหารไปนั่งคุยกันนาน ๆ นั่นคือพื้นที่ที่สามของคนตรัง ถือเป็นรากเหง้าวิถีชีวิตของคนตรังโดยดั้งเดิมอย่างแท้จริง แต่ปัจจุบันร้านกาแฟจะเปลี่ยนรูปแบบ มีเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยร้านกาแฟก็กลายเป็นที่โปรโมทการท่องเที่ยวในจังหวัดตรังมากขึ้น ร้านกาแฟร้านอาหารในตรังหลายแห่งกลายเป็นที่ที่สามของคนทั่วประเทศและคนทั่วโลกที่มาเยี่ยมเยือนตรัง

ผมก็คิดว่าหลาย ๆ ส่วนที่จะต้องร่วมกันปรับเปลี่ยน ที่สำคัญอย่างยิ่งที่น้องภานุพงศ์พูดถึงว่าทำอย่างไรให้มีพื้นที่ที่ใช้ร่วมกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่

เรื่องนี้ผมได้เคยพูดคุยกับทางช่างของเทศบาลไว้แล้ว จริง ๆ แล้วเคยคุยเรื่องนี้กับทีมงานตั้งแต่ก่อนเข้ามาทำงานเทศบาลอีกว่า โซนถนนวิเศษกุลมีโรงเรียนอยู่หลายโรง เช่น โรงเรียนสภาราชินี โรงเรียนบูรณะรำลึก โรงเรียนวัดควนวิเศษมูลนิธิ อยู่ในบริเวณเดียวกันหมดเลย ตอนเย็นผู้ปกครองมารอรับลูกหลานทำให้รถติดมากเลย จึงได้พูดกันว่า เป็นไปได้ไหมว่า ถ้าเราได้เข้ามาบริหารเทศบาล อยากสร้างอาคาร5–6 ชั้น ตรงบริเวณที่เป็นศูนย์ดับเพลิงในปัจจุบัน ให้มีที่จอดรถ มีห้องคอมพิวเตอร์ให้นักเรียนใช้ มีห้องให้ผู้ใหญ่หรือผู้ปกครองไปใช้ทำกิจกรรมสันทนาการ เย็บปักถักร้อย แอโรบิก เป็นต้น เด็กนักเรียนก็มาใช้ห้องใช้พื้นที่ในการติวหรืออ่านหนังสือได้ มีห้องที่สามารถใช้ร่วมกันของคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งเรื่องนี้ได้คุยกับทางช่างแล้วเขาก็เห็นด้วยและก็อยากทำ นอกจากนี้ก็ได้คุยกับท่านอดีตนายกชวนและได้ข้อเสนอว่า ควรจะให้มีต้นไม้มีสวนร่มรื่นด้วย เป็นที่พักผ่อนและจอดรถไปในตัว

 

 

 

ส่วนเรื่องจราจร อย่างที่น้องทศวัจน์พูด ผมเคยเสนอความคิดต่อหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดตรังว่า ตรังมีการจราจรแออัด จะทำอย่างไรให้ระบบคล่องตัวมากขึ้น เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวด้วย อยากให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งขนส่งก็ดี ตำรวจก็ดีมาประชุมร่วมกัน เพื่อปรับเปลี่ยนเส้นทางสัญจรบางเส้น อาจจะทำเป็น one-wayเมื่อทำได้ ต่อไปคิดว่าจะต้องมีโครงการจักรยานให้คนได้เช่าหรือยืมใช้ ตอนนี้มีบริษัทมาติดต่อเสนอระบบจักรยานมีบัตรมีจุดจอด น้อง ๆ นักเรียนก็สามารถใช้จักรยานตัวนี้เดินทางในเขตเทศบาลได้

นอกจากนี้ เทศบาลนครตรังมี “คลองหัวยยาง” ผ่ากลางเมือง เหมือนสิ่งมีชีวิตของเมืองแต่ขณะนี้มีลมหายใจรวยริน จะทำอย่างไรให้มีชีวิต เคยคุยกับทางช่างก็มีแนวคิดแล้ว ก็คือ เมื่อก่อนไม่มีแหล่งต้นน้ำหมุนเวียน ก็อยากทำให้มีแหล่งต้นน้ำ ต้องให้มีการออกแบบ อาจจะต้องรบกวนให้มหาวิทยาลัยมาร่วมในการศึกษาวิจัย ถ้าทำคลองห้วยยางให้มีชีวิตชีวา ก็น่าจะมีกิจกรรมต่าง ๆ ผู้คนก็จะออกมาออกกำลังกาย มีลานต่าง ๆ ถ้าทำได้ก็จะทำให้เมืองสวยและน่าอยู่มาก

เพิ่มเติมในส่วน “เขาหนองยวน” เทศบาลได้ของบจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแล้ว ถ้าได้งบก็สามารถดำเนินการปรับปรุงทำบันไดขึ้นทางด้านหน้า และให้ผู้คนขึ้นไปกราบไหว้บูชาเจ้าแม่กวนอิมได้ แต่ที่ผ่านมาเมื่อไม่มีคนขึ้นไปใช้ก็มีกลุ่มวัยรุ่นขึ้นไปทำลายและขโมยของ เมื่อปรับปรุงภูมิทัศน์แล้วเราจะต้องจัดการระบบดูแล อาจจะตั้งเป็นกลุ่ม มีที่พัก มีตำรวจท่องเที่ยว ให้ชุมชนรวมกลุ่มกันในการบริหารจัดการ ถ้าไม่ทำอย่างนั้นก็จะเสียหายอีกอย่างแน่นอน

สมัชชา : ฟังดูเหมือนว่า มีประเด็นว่าราชการมีข้อจำกัดพอสมควร แต่เราจะจัดการความต้องการของน้อง ๆ ที่ฟังมาอย่างไร มีกระบวนการหรือกลไกให้พวกเขามามีส่วนร่วมอย่างไรได้บ้าง คิดว่าเป็นไปได้ไหม

เกรียงศักดิ์ : ได้นะครับ หากมหาวิทยาลัยจะเข้ามาช่วยออกแบบ อาจจะเป็นการทำข้อตกลงหรือจ้างมาศึกษาวิจัยก่อนที่จะมาดำเนินการ

ตรีชาติ : ที่เราพูดคุยกันมันอธิบายด้วยทฤษฎีด้านกระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรมอยู่แล้วว่า เราจะทำอย่างไรให้พื้นที่สาธารณะประสบความสำเร็จตอบสนองความต้องการของผู้ใช้จริง ๆ อันดับแรก คือ “การเลือกที่ตั้ง” หลาย ๆ คนพูดถึงว่า ที่ตั้งของพื้นที่สาธารณะควรจะอยู่ตรงจุดที่มีการชุมนุมกันของคนอยู่แล้ว การทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะอาจจะง่ายกว่า เมื่อสักครู่ท่านรองพูดถึงเขาหนองยวน ซึ่งยังไม่ได้เป็นจุดรวมคนแต่ก็เป็นไปได้ว่าจะปรับเปลี่ยนอะไรบางอย่างเพื่อดึงดูดคนเข้าไป อาจจะยากกว่าพื้นที่ที่เป็นจุดชุมนุมคนอยู่แล้ว และอันดับต่อมา คือ “การวิเคราะห์ผู้ใช้” ซึ่งน้องสองคนตอบชัดเจนมากว่า อาคารหลาย ๆ อาคารที่พยายามผลักดันให้เป็นพื้นที่สาธารณะแต่ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริงของผู้ใช้ บางทีไม่ได้ระบุด้วยซ้ำว่าผู้ใช้เป็นใคร เราเอาไปปนกันว่า ผู้ใช้กลุ่มนี้กับกลุ่มนี้อยู่ด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่กิจกรรมของเขาสวนทางกัน ลักษณะนี้เกิดขึ้นเยอะมากในการสร้างพื้นที่สาธารณะในเมือง การันตีได้เลยว่า ทุกที่ไม่ประสบความสำเร็จแน่นอน ฉะนั้น ก่อนจะวิเคราะห์ผู้ใช้ ต้องกำหนดผู้ใช้ก่อนว่าเป็นกลุ่มไหน แล้วมาวิเคราะห์ว่าเขาต้องการอะไร แล้วออกแบบให้ตรงกับความต้องการ

สิ่งที่เรามักจะลืมเสมอในการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบชุมชนเมือง เรามักออกแบบแค่สถาปัตยกรรมของสถานที่แค่พื้นที่ที่มีอยู่ แต่ไม่เคยคิดถึง linkage คือการเชื่อมโยงของspace เรามักจะพูดแค่ space 1 หรือ space 2 แล้วอยู่ห่าง ๆ กัน ก็ไม่เป็นไรให้คนหาทางไปเอง ในต่างประเทศการออกแบบพื้นที่สาธารณะแบบนี้เขามักจะถือว่า ทางสัญจรหรือ circulation เป็นส่วนหนึ่งของ public space เพราะแค่เส้นทางที่คนเดินไปก็เกิดชีวิตสาธารณะในเมืองแล้ว เช่น ในฝรั่งเศสมีพื้นที่สาธารณะกระจายเป็นจุดเล็ก ๆ เนื่องจากเป็นเมืองที่ถูกใช้แนวคิดละแวกบ้านเป็นหลัก เขาจะไม่ได้เน้นพื้นที่ใหญ่ ๆ หรือกิจกรรมขนาดใหญ่ แต่ที่สำคัญคือ เขามีจุดเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ตลอดเวลา โดยออกแบบพื้นที่เชื่อมโยงนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สาธารณะด้วย แต่เมืองไทยไม่ใช่ เราออกแบบแยกจากกัน ซึ่งนำไปสู่ที่พี่สุกานดาบอกเรื่องการเข้าใช้ทางของทั้งกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ รวมถึงเด็ก ๆ ด้วย เราก็จะมีวิธีคิดแบบเดียวกันคือออกแบบอาคารให้ตอบโจทย์ผู้พิการ มีทางลาดมีห้องน้ำมีลิฟท์ แต่เราไม่เคยพูดถึงทางเท้าที่จะพาเรามาถึงสถานที่นั้น ๆ

 

 

การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal design) อันดับหนึ่งที่เรานึกถึงคือ linkage เมื่อใดก็ตามที่เขาออกจากบ้านไม่ได้ เขาก็จะมาที่อาคารหลังนั้นไม่ได้ อาคารดีแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าไม่มีทางเท้าที่เอื้ออำนวย อาคารนั้นก็ไม่มีประโยชน์ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่า เราไม่ได้ออกแบบเฉพาะอาคาร แต่เรากำลังออกแบบอาคารที่เป็นส่วนหนึ่งของเมือง

วันนี้นักศึกษาที่มาร่วมได้โจทย์ไปเยอะเลย ถ้าทางเทศบาลมีโจทย์ที่อยากจะปรับปรุงหรือมีแนวความคิดอะไร ทางคณะก็ยินดีที่จะช่วยเทศบาลในการออกแบบและการระดมความคิดเห็น เพราะเราก็เป็นส่วนหนึ่งของเมืองเช่นกัน ก็ยินดีช่วย

โดยสรุป ในทางทฤษฎี กระบวนการออกแบบมันถูกคิดมาแล้วว่าเราจะสร้างอย่างไร แต่ในทางปฏิบัติ เราอาจจะหลงลืมบางกระบวนการไป เกิดเป็นช่องโหว่และเกิดการใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่

สมัชชา : จากที่ฟังอาจารย์และทุกท่าน เราน่าจะกำลังมองเห็นร่วมกันว่า สถาปัตยกรรมท้องถิ่นไม่ใช่แค่สเก็ตว่าแบบอาคารเดิมมันเป็นอย่างไร แต่มันหมายถึงลมหายใจของท้องถิ่น ซึ่งจะถูกดึงออกมาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนได้อย่างไร น่าจะเป็นเรื่องสำคัญ อยากฟังการแลกเปลี่ยนจากผู้ฟังด้วยนะครับ

เทิดศักดิ์ : ผมเป็นครูโรงเรียนบูรณะรำลึก ที่สาธารณะที่เรามีอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้เกิดกิจกรรมและมีการเชื่อมโยง ยกตัวอย่างสวนสมเด็จฯ ตอนที่เกิดใหม่ ๆ มีกิจกรรมหลายอย่างเกิดขึ้น รู้สึกว่ามีชีวิตชีวามาก แต่พอผ่านไปหลายปี ปัจจุบันค่อนข้างเงียบเหงา กิจกรรมหลายอย่างไม่เกิด อย่างที่ท่านรองพูดถึงถนนวิเศษกุล น่าจะทำอะไรที่เกิดประโยชน์กับผู้ปกครองที่ไปรอนักเรียนหรือสำหรับนักเรียนในช่วงเวลาหลังเลิกเรียนด้วย ผมว่า สวนสมเด็จฯ เป็นที่ที่มีคนไปอยู่เยอะในช่วงวันจันทร์ถึงศุกร์ ถ้ามีกิจกรรมสันทนาการด้านต่าง ๆ เกิดขึ้นมาก็จะดี อยากให้นึกถึงที่นี่ด้วย

สุกานดา : พี่ขอเพิ่มเติม ถ้าสมมติว่า สถานที่ทุกที่เอื้ออำนวยคนพิการแล้ว แต่เส้นทางในเมืองเอื้ออำนวยให้คนพิการแล้วหรือยัง อยากเสนอว่าให้มีรถสำหรับคนพิการ เช่น อาจจะทำระบบโทรไปเรียกให้มารับที่บ้าน ไม่ขออะไรมาก อยากให้เราได้ออกมาใช้ชีวิตร่วมกับคนทั่วไปได้ด้วย

 

 

ตรีชาติ : ผมอยากชี้ประเด็นหนึ่งว่า สังคมไทยมีแนวคิดบางอย่างที่น่ากลัวน่าเป็นห่วง คือ ผู้ให้บริการสาธารณะในไทยมีความเข้าใจผิดไปมาก ตัวอย่างเช่น สถานีอนามัยหลายแห่งที่ดูแลผู้พิการโดยเฉพาะมีความเข้าใจว่า หากเจ้าหน้าที่อนามัยสามารถไปให้บริการผู้พิการหรือผู้สูงอายุได้ถึงบ้านจะถือว่าเป็นการทำงานที่ประสบความสำเร็จ การเอาเงินสวัสดิการเอาหมอไปหาถึงบ้านถึงจะถือเป็นการบริการที่ดีที่สุด นี่คือวิธีคิดที่ผิดในการให้บริการคนพิการ ผมเข้าใจที่พี่สุกานดาพูดว่า คนพิการเองไม่ได้อยากอยู่บ้านและได้รับบริการ แต่อยากจะออกมารับบริการด้วยตัวเองเหมือนคนปกติ การจะให้ผู้พิการออกมาใช้บริการได้เอง จะทำยากกว่าเพราะต้องเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานหลายอย่าง การให้เขาออกมาหาหมอที่โรงพยาบาลเองได้ ให้เขาเดินได้ด้วยตัวเอง สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เป็นเรื่องที่ยากกว่าการที่เจ้าหน้าที่จะเดินทางไปหาผู้พิการถึงบ้าน แต่คิดว่า ผู้พิการต้องการแบบแรกมากกว่า แต่รัฐคิดกลับกัน เราอาจจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วย

สมัชชา : เราจะทำอย่างไร เพื่อจะได้รับข้อมูลจากผู้ใช้จริง ๆ

สุกานดา : พี่เสนอว่า คุณจะสร้างอะไรทำไมคุณไม่เชิญคนพิการมานั่งเสวนามาให้ความคิดเห็น

เกรียงศักดิ์ : ผมขอเพิ่มเติมเรื่อง สวนสมเด็จฯ ซึ่งสอดคล้องกับที่อาจารย์พูด ผมไปออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ ก็สังเกตว่าทำไมรอบด้านในคนไม่ค่อยมาวิ่ง มันเลยเปลี่ยว ทำให้คนยิ่งไม่กล้าเข้ามา ทำอย่างไรให้คนเข้ามารอบในด้วย จึงมีแนวคิดว่า ถ้าได้ทำสะพานเชื่อมระหว่างเกาะตรงกลางกับรอบนอกให้สามารถวิ่งเชื่อมต่อรอบในและนอกได้ ก็น่าทำใหคนเข้าไปมากขึ้น แต่ผมคิดว่าสะพานนั้นต้องเป็นนวัตกรรมอะไรที่สวยงามที่สามารถดึงดูดให้คนมาถ่ายรูปเซลฟี่ได้ด้วย ก็ได้ให้ช่างไปออกแบบไปแล้ว อยากฝากน้อง ๆ ด้วย

ทศวัจน์ : เหมือนที่ท่านรองบอกครับว่า บางที่มันดูน่ากลัวและอันตราย บางที่ก็ไม่น่าสนใจ เลยทำให้หลายคนไม่อยากเข้าไปใช้ ถ้าเป็นไปได้อยากให้ช่วยปรับปรุงทัศนียภาพสวนสาธารณะต่าง ๆ ให้มีความปลอดภัยและน่าสนใจมากขึ้น เพื่อดึงดูดให้คนรุ่นใหม่อย่างเราเข้าไปใช้มากขึ้น

 

 

สุทธิพงศ์ : ผมเพิ่งกลับมาอยู่บ้าน และได้ร่วมทำโครงการฟื้นฟูชุมชนเมืองเก่าของตรังบางส่วน ผมมีความคิดเห็นสองเรื่อง เรื่องแรก เวลาเรามองพื้นที่ทางสังคม ผมไม่ค่อยคิดเรื่องพื้นที่มากนัก หัวมุมตลาดสดก็เป็นพื้นที่ทางสังคมได้ มันน่าจะหมายถึงเป็นส่วนที่ความเข้าใจและความรู้สึกที่หลากหลายมากกว่านึกถึงกลุ่มพื้นที่ในเชิงสถาปัตยกรรมหรือสิ่งปลูกสร้าง พอเราไปจำกัดในเชิงกลุ่มพื้นที่การก่อสร้าง อาจจะทำให้ความหมายมันถูกลดลงไปหรือเปล่า กลายเป็นว่าเราต้องไปสร้างพื้นที่ปรับปรุงพื้นที่ แต่ว่ามิติทางสังคมทางปฏิสัมพันธ์ที่น้องทศวัจน์พูดถึงเป็นเรื่องสำคัญกว่า

เรื่องสอง ตรังเป็นเมืองที่ภูมินิเวศน์ที่เหมาะสมในหลายมิติ เช่น ที่พูดเรื่องคลองห้วยยาง ยังไม่มีพยายามที่จะพัฒนาในมิติเชิงภูมินิเวศน์ให้มันสอดรับกับพื้นที่ทางสังคมของเรา แต่เราไปเน้นเรื่องการสร้างหรือพัฒนาสิ่งปลูกสร้างใหม่ ๆ ขึ้นมา ยกตัวอย่าง แทนที่เราจะบอกว่า เราจจะไปสร้างสวนสมเด็จฯ ให้ดี ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาจากพรุธรรมชาติแห่งหนึ่งแต่ทำไมเราไมคิดพัฒนาพื้นที่อย่างคลองห้วยยาง ทำอย่างไรให้คลองห้วยยางเป็นเหมือนคลองแม่ข่าที่เชียงใหม่[4]แม้กระทั่งการพัฒนาพรุตรงใกล้ ๆ จวนผู้ว่า เห็นแล้วมันก็ขัดใจ ผมเป็นสถาปนึกและรู้สึกว่า ที่พัฒนาหรือปรับปรุงขึ้นมามันไม่มีรากเดิม อะไรก็แล้วแต่ถ้ามันถูกปรับถูกทำให้หลุดไปจากรากเดิม ก็ไม่น่ามีคุณค่าสักเท่าไหร่ ไม่น่าจะสอดคล้องกับความต้องการที่จะทำให้ตรังเป็นเมืองน่าอยู่จริง ๆ

 

 

ผมยืนยันว่า มิติทางสังคมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะตรังเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม พื้นที่ทางสังคมเป็นสิ่งที่ยึดโยงคนตรังเอาไว้ ถ้าจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงอะไรในเชิงภูมิสถาปัตย์ก็จะต้องพิจารณาว่ารากเดิมเป็นอย่างไร

สมัชชา : ผมคิดว่า เรื่องที่คุยกันวันนี้เป็นเหมือนเหรียญสองด้าน คือ การพัฒนาทางกายภาพและการพัฒนาทางสังคม จะต้องมีจุดสมดุลและสอดคล้องกัน พื้นที่สาธารณะไม่ใช่แค่รูปแบบสถาปัตยกรรมแต่หมายถึงปฏิสัมพันธ์ของผู้คนซึ่งอยู่ในนั้นด้วย น่าจะเป็นสิ่งที่ขบคิดกันต่อไปในแวดวงของการพัฒนาเมือง


[1]ดูเพิ่มเติมที่ https://intermingleintrang.blogspot.com/2018/02/1.html

[2]เทศบาลนครฉะเชิงเทรา ได้มีความร่วมมือเป็นภาคีกับอุทยานการเรียนรู้หรือ TK Park ที่กรุงเทพฯ เพื่อจัดสร้าง ‘ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทรา’ให้เป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนนอกจากโรงเรียนปรกติ โดยเริ่มเปิดในเดือนกรกฎาคม 2557 ส่วนที่น่าสนใจคือศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้บริหารงานโดยหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งก็คือเทศบาลนครฉะเชิงเทรา ความต้องการจึงเกิดมาเพื่อรองรับกับเรื่องราวในท้องถิ่นแดนแปดริ้ว ที่ตั้งศูนย์การเรียนรู้ฯ อยู่ในบริเวณตัวเมืองจึงทำให้สะดวกต่อการเดินทางและเข้าถึงของคนในพื้นที่ (สาโรช พระวงค์, 2015)

[3]เช่น กีฬา ดนตรีร็อคทุกประเภท ศิลปะบทกำแพงอย่าง Graffiti กิจกรรมเข้าจังหวะอย่างการเต้น กิจกรรมและกีฬาตามวัฒนธรรมคนเมืองร่วมสมัย (Urban Culture)เช่นHip hop lab 040,Poetry Circle 040, BBoy. Bar Battle, Tricking เป็นต้น รวมถึงร่วมกับภาคีในเมืองและต่างประเทศในการจัดการแสดงการแข่งขัน และเทศกาลต่าง ๆ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงความสามารถอย่างต่อเนื่อง ดูเพิ่มเติมที่ https://www.dynamo-eindhoven.nl

[4]คลองแม่ข่า, น้ำแม่ข่า หรือ แม่น้ำข่า เป็นคลองโบราณสายหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในชัยภูมิที่พญามังรายทรงเลือกที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อกว่า 700ปีที่แล้ว เดิมคลองแม่ข่าทำหน้าที่เป็นคูเมืองชั้นนอกที่โอบล้อมเมือง และเป็นทางระบายน้ำล้นลงสู่แม่น้ำปิง แต่จากการขยายตัวของชุมชนเมืองเมื่อสามทศวรรษที่ผ่านมาทำให้น้ำในคลองเน่าเสียหนัก ซึ่งได้มีความพยายามที่จะพัฒนาคลองนี้ให้กลับมามีสภาพปรกติดังเดิม ดูเพิ่มเติมที่ http://cendru.eng.cmu.ac.th/maekha/

 

 
เผย แพร่ครั้งแรก ที่ https://medium.com/intermingle-in-trang/
 
 
 

• AUTHOR

 

 


อภิชญา โออินทร์

นักวิชาการอิสระ

เศรษฐศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาบัณฑิต Regional and Urban Planning Studies จาก LSE ประเทศอังกฤษ

Related Posts