Workshops

สุมหัวเรื่องเมืองกับคนตรัง 1 : ว่าด้วยรถโดยสารสาธารณะ วัด และพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจสำหรับคนรุ่นใหม่

อภิชญา โออินทร์

 

 

“ที่ที่สาม” ซึ่งเป็นคำเรียกโดยทั่วไปสำหรับพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่มากมายและหลากหลาย ซึ่งเปิดรับการรวมกลุ่มเป็นประจำ ด้วยความสมัครใจ การรวมกลุ่มดังกล่าวไม่นับรวมอาณาบริเวณของ ‘ที่บ้าน’ และ ‘ที่ทำงาน’ พูดอย่างง่าย ที่ที่สาม คือ สถานที่รวมตัวอย่างไม่เป็นทางการของสาธารณชน (Informal public gathering places) ครอบคลุมตั้งแต่ สวนสาธารณะ สนามกีฬา ที่นั่งริมถนน อาคารสาธารณะ จัตุรัสกลางเมือง ริมแม่น้ำ คาเฟ่ ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ บาร์ แกลอรี่ พื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ตลาดบนพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น

การเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปของรูปแบบ “ที่ที่สาม” ในยุคสมัยใหม่เป็นปรากฏการณ์ที่เราอยากทำความเข้าใจ เพื่อเสนอแนะให้เกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมกับความต้องการของชีวิตในเมือง และสร้างทางเลือกของที่ที่สามให้ทุกกลุ่มอาชีพ อายุ และรสนิยม ได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมจะมีทางเลือกที่เหมาะกับคนปัจจุบันได้ การระดมสมองจากผู้ใช้พื้นที่สาธารณะจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่โครงการวิจัยเห็นว่าจำเป็นที่สุด เราจึงทดลองตามหาคนที่สนใจเรื่องพื้นที่สาธารณะและการพัฒนาเมืองผ่านการประชาสัมพันธ์ในเฟสบุ๊ค โดยให้ผู้ที่สนใจสมัครเข้ามาเอง

บ่ายแก่ๆ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 เราได้พบกันที่ร้านกาแฟซึ่งเป็น “ที่ที่สาม” อย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ และพูดคุยกันโดยไม่มีใครมีความรู้เหนือกว่าใคร เป็นสามชั่วโมงที่ทั้งสนุกสนาน ทุกคนได้แสดงความรู้สึก ความต้องการ และความคิดเห็นอย่างเต็มที่

 

 

 

 

หลังจากแนะนำตัวกันสั้น ๆ เราเริ่มต้นด้วยการเล่นเกมง่าย ๆ ซึ่งผู้วิจัยได้ดัดแปลงมาจาก “เกมเมือง” (Urban Game) เล่นกัน 20 รอบ (แต่ละรอบคือ 1 ปี) แต่ละรอบจะมีคำสั่งให้ใส่องค์ประกอบต่าง ๆ ของเมืองลงไปบนแผนที่ เช่น บ้าน โรงเรียน วัด ผับ ต้นไมถนน ทางรถไฟ โรงพยาบาล เป็นต้น

ก่อนการเล่นแต่ละทีมจะต้องระบุตำแหน่งที่จะสร้างบ้านของทีมด้วยกระดาษโพสอิทสีฟ้า ใส่ต้นไม้จำนวนมาก และเริ่มเล่น

รอบที่ 1, 2, 3 … 20 แต่ละรอบมีสถานการณ์เฉพาะที่ทำให้ต้องมีพื้นที่และสิ่งปลูกสร้างบางอย่างในเมือง เช่น คนย้ายเข้ามามากขึ้น ต้องการโรงงานแปรรูปสินค้าเพื่อจำหน่ายในเมืองมากขึ้น มีทั้งโรงงานที่ไม่ก่อมลพิษกับโรงงานที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนด้วย เมื่อเริ่มเกิดเป็นชุมชนที่อยู่อาศัย ประชาชนอยากให้มีที่พักผ่อนหย่อนใจจึงต้องเพิ่มสวนสาธารณะ สร้างทางรถไฟเพื่อขนส่งสินค้าและคนภายในเมืองและระหว่างเมือง เป็นต้น

 

 

ผู้เล่นจะตัดสินใจวางตำแหน่งของแต่ละอย่างในแต่ละรอบโดยไม่รู้ว่า รอบต่อไปจะต้องใส่อะไรและท้ายที่สุดแล้วเมืองจะเป็นแบบใด เพราะผลลัพธ์ขึ้นอยู่กับวิธีการคิดของผู้เล่นในการวางผังเมือง จัดโซน และการระมัดระวังผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งปลูกสร้าง สภาพแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในเมืองของตน มาดูกันว่า 20 ปีผ่านไป เมืองของแต่ละทีมจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

 

 

เมื่อเล่นเสร็จก็พูดคุยแลกเปลี่ยน พบว่า ผู้เล่นทั้งสองทีมใช้หลักคิดคล้าย ๆ กัน ได้ออกมาเป็นเมืองสองแบบ

 

 

แบบที่ 1 เป็นเมืองที่ได้วางโซนของกิจกรรมต่างๆ ไว้อย่างคร่าวๆ เช่น รวมร้านค้า สถานบันเทิง โรงแรม และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวไว้ในโซนเดียวกัน โรงงานเอาไว้ด้วยกันและห่างไกลจากแหล่งชุมชน มีพื้นที่สีเขียวกั้นระหว่างโซนโรงงานและชุมชน

ถนนเส้นหลักลากผ่านกลางเมือง บ้านเรือนตั้งอยู่ตามถนนเส้นหลักและรองเป็นส่วนใหญ่ หลังจบรอบที่ 20 ตามคำสั่งแล้ว ทีมนี้ได้เพิ่มสนามเด็กเล่น โรงภาพยนตร์ พื้นที่สีเขียว พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ และสนามกีฬา เข้าไปในเมืองด้วย

แต่ลองดูบริเวณรอบๆ บ้านของทีมที่ 1 (โพสอิทสีฟ้า) จะพบว่ามีสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานอยู่ครบ ทั้งโรงพยาบาล สวนสาธารณะ วัด โรงเรียน และอยู่ห่างไกลจากโรงงานและศูนย์รวมความวุ่นวายอย่างห้างสรรพสินค้าและผับ เป็นการวางผังเมืองที่จัดโซนได้ดีแต่ก็คำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่ดีของบ้านผู้วางผังมาก่อน

 

 

 

 

แบบที่ 2 มีการจัดโซนไว้คร่าวๆ เหมือนแบบที่ 1 ถนนเส้นหลักตัดผ่ากลางเมือง พื้นที่สีเขียวสำหรับพักผ่อนหย่อนใจอยู่กลางเมืองเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ มีการแยกสิ่งปลูกสร้างและกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนให้อยู่ในโซนเดียวกัน แต่ก็ยังมีกระจัดกระจายอยู่ปะปนกับชุมชนที่อยู่อาศัยบ้าง

หลังจบรอบที่ 20 ตามคำสั่งแล้ว ทีมนี้ได้เพิ่มมหาวิทยาลัย สวนสัตว์ ห้องสมุด ร้านตัดผม โรงภาพยนตร์ เข้าไปในเมืองด้วย

สังเกตรอบ ๆ บ้านของทีมที่ 2 (โพสอิทสีฟ้า) ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ใกล้พิพิธภัณฑ์และโรงเรียน แต่ก็อยู่ใกล้โรงงานด้วย ลูกทีมอธิบายว่า เนื่องจากโรงงานดังกล่าวไม่ก่อมลพิษ และทีมสร้างเมืองแบบดูภาพรวมเป็นหลัก

➽ เราได้เรียนรู้อะไรบ้างจากเกมข้างต้น

ในการวางผังเมือง ทั้งคนธรรมดาและผู้เชี่ยวชาญผังเมืองต่างมีวิธีคิดแบบเดียวกันคือ อะไรก็ตามที่ส่งผลกระทบสู่ภายนอกทางลบ (Negative Externalities) ควรได้รับการควบคุม จำกัดเขต และไม่ให้อยู่ร่วมกับชุมชนที่อยู่อาศัย คนทั่วไปจะมองจากพื้นที่ของตนเองเป็นสำคัญ อะไรที่ส่งเสียงรบกวน มีมลพิษทางอากาศ วุ่นวาย ทำให้เดือดร้อนรำคาญ ก็จะไม่อยากให้ตั้งอยู่ใกล้กับบ้านของตน ในขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวกที่ส่งผลกระทบทางบวก (Positive Externalities) เช่น สวนสีเขียว ทัศนีภาพทางธรรมชาติ ถนน ทางรถไฟ โรงเรียนดี ๆ ก็อยากให้อยู่ใกล้กับที่ตนอยู่อาศัย

กลับกันผู้ที่วางผังเมืองในระดับนโยบาย จะต้องพิจารณาโดยภาพรวมและคำนึงผลประโยชน์ของผู้คนทุกกลุ่ม เชื่อมโยงพื้นที่ต่าง ๆ ออกมาตรการควบคุม Negative Externalities และส่งเสริม Positive Externalities ให้เหมาะสมกับการความต้องการและยั่งยืน

นอกจากนี้ ในเมือง ๆ หนึ่ง จะต้องมีทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการบริโภค เช่น ธุรกิจ โรงงาน ร้านค้า โรงเรียน และกิจกรรมทางสังคมและการเมือง เช่น การพักผ่อนหย่อนใจ การพบปะสังสรรค์ การรวมกลุ่ม ดังนั้น พื้นที่ในเมืองจะต้องตอบโจทย์ความต้องการทั้งสองส่วน เมืองที่มีแต่ร้านค้าและห้างสรรพสินค้าแต่ไม่มีสวนสาธารณะ แกลอรี่ ไม่มีสนามกีฬา คงเป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่

 

 

➽ เมืองตรังเป็นอย่างไรในเรื่องนี้

เทศบาลนครตรังได้สร้างสรรค์ความมีชีวิตชีวาให้กับพื้นที่สาธารณะในเมืองด้วยการปรับปรุงพื้นที่รกร้างในเมืองให้เป็นที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ เปลี่ยนเรือนจำเก่าเป็นสวนสุขภาพ เปลี่ยนทางเท้าธรรมดาให้เป็นทางเดินชมศิลปะ เปลี่ยนถนนให้เป็นตลาด เช่น ถนนคนเดินตรัง ตลาดเซนเตอร์พอยต์ ตลาดริมน้ำ สระกะพังสุรินทร์ เป็นต้น พื้นที่เหล่านี้ บ้างก็ประสบความสำเร็จในการเป็นที่พบปะสังสรรค์และทำกิจกรรมของคนหลากหลาย บ้างก็ยังไม่สามารถดึงดูดให้คนมาใช้และสร้างความหมายให้กับพื้นที่ได้ถึงแม้จะได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์ให้ดีขึ้นแล้วก็ตาม

ตัวอย่างนโยบายที่เกี่ยวข้องตามร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเทศบาลนครตรัง (พ.ศ. 2558–2563) เช่น จัดให้มีศูนย์เยาวชนขึ้นมารองรับ สนับสนุนกิจกรรมของเยาวชนในนครตรัง ในเชิงสร้างสรค์และทันสมัยเข้าใจสังคมก้าวไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้ความสามารถ มีคุณภาพ มีคุณธรรม สร้างปอดให้นครตรัง โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น จัดให้มีลานภูมิปัญญาท้องถิ่น ลานวัฒนธรรม ลานศิลป์ ลานดนตรี ลีลาศในสวนสาธารณะและบนถนนคนเดิน พร้อมทั้งขยายพื้นที่ถนนคนเดินเพื่อรองรับกิจกรรมสันทนาการ โดยมิให้มีผลกระทบกับการจราจร เป็นต้น

➽ เราเริ่มด้วยคำถามว่า “ทำไมจึงสนใจกิจกรรมในครั้งนี้?”

ทศวัจน์ : ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องที่ส่งผลกระทบกับผมโดยตรง เช่น รถโดยสารสาธารณะในตัวเมือง ซึ่งมีราคาค่าโดยสารถูกดี แต่ไม่มีป้ายจุดจอดที่เหมาะสม คนจะใช้บริการไม่มีข้อมูลว่ารถจะไปเส้นทางไหน จะมาเมื่อใด ไม่ต่อเนื่องต้องรอนานกว่าจะมาสักคันหนึ่ง บางครั้งเมื่อไม่มีป้ายที่ชัดเจน ทำให้คนขับไม่หยุดรับผู้โดยสารเพราะไม่อาจทราบได้ว่า เป็นผู้โดยสารยืนรอรถหรือไม่ การไม่มีทั้งป้ายและข้อมูลการเดินทางทำให้ชีวิตนักเรียนที่ไม่มีรถส่วนตัวและไม่มีรายได้พอที่จะเหมารถมอเตอร์ไซต์รับจ้างได้ตลอดเวลาเป็นชีวิตที่ลำบากมาก นอกจากนี้ ผมยังรู้สึกไม่สบายใจกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะด้วย ยกตัวอย่างที่ประสบมาด้วยตัวเองที่สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง คนเดินสูบบุหรี่กันทั่ว มันส่งผลกระทบต่อคนอื่น ๆ ที่มาออกกำลังกาย ทั้ง ๆ ที่มีการห้ามสูบ เทศบาลน่าจะต้องจัดพื้นที่สูบบุหรี่โดยเฉพาะและควบคุมอย่างจริงจังไม่ให้สูบโดยทั่วไป

ปัณฑ์ชนิต : เราเป็นนักเรียน ไม่มีรายได้ แต่เราก็ต้องการพื้นที่ของเราเหมือนกัน เป็นพื้นที่ที่เราเป็นตัวของตัวเองและแสดงออกได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะรบกวนคนอื่น อย่างห้องสมุดสาธารณะที่มีอยู่ก็ห้ามพูดคุยกันเสียงดัง เราอยากจะพูดคุย ทำงานกลุ่ม ติวหนังสือก็ทำไม่ได้ บ้านเพื่อนหรือที่โรงเรียนก็ค่อยไม่สะดวก ไปร้านกาแฟบางครั้งก็ไม่ค่อยได้ติว

 

 

 

พระอิทธิยาวัชย์ : วัดเคยเป็นพื้นที่สาธารณะที่สำคัญของชุมชน แต่ปัจจุบันบทบาทของวัดกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน เช่น วัดโคกหล่อ (วัดนิคมประทีป) ที่อาตมาอยู่เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นสาธารณะมาก มีผู้คนเข้าออกมาทำกิจกรรมทางศาสนาจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม อาตมาสังเกตว่า วัดเองเริ่มไม่ตอบโจทย์บางอย่างของสังคม วิธีคิด (mindset) ของพระกับโยมมีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการเปลี่ยนจากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ พระรุ่นอาวุโสกับพระรุ่นใหม่ก็มีแนวคิดบางอย่างที่แตกต่างกัน หากเราไม่สามารถเชื่อมและทำความเข้าใจระหว่างคนต่างรุ่นได้ วัดก็อาจจะตัดขาดจากสังคมไปเลยก็ได้ ยกตัวอย่างความพยายามในการปรับตัวของวัดบางแห่งในกรุงเทพมหานครตามโครงการ “วัดบันดาลใจ” ซึ่งเป็นการปรับบทบาทของวัดที่อยู่ใจกลางเมืองจากที่ดำเนินเฉพาะกิจกรรมทางศาสนาเพียงอย่างเดียวมาเป็นวัดที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ด้วย เช่น การฉายภาพยนตร์แล้วพูดคุยแลกเปลี่ยนและวิเคราะห์เนื้อหาที่ดู การเปิดเป็นพื้นที่รับฟังซึ่งกันและกัน พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ปรึกษาหารือระหว่างกัน โดยไม่จำเป็นว่าพระจะต้องเป็นผู้นำสนทนาเพียงผู้เดียว ผู้เข้าร่วมโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่สามารถเป็นผู้ให้ความรู้ได้เช่นกัน แต่การที่วัดในต่างจังหวัดอย่างในตรังจะเริ่มทำอะไรแบบนี้ ต้องอาศัยเวลาและการทำความเข้าใจกับคนหลายฝ่าย เพื่อขยายความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทของวัดที่มีต่อสังคมให้กว้างขึ้น อาตมาจึงสนใจมาฟังความคิดความฝันของคนรุ่นใหม่จากวงนี้

กมลฉัตร : กรีน (ภานุพงศ์) ชวนมาคะ อยากมาฟัง

ปิยชนก : เหมือนกันคะ อยากลองมาดู อยากทำกิจกรรมสนุก ๆ

ภานุพงศ์ : เรียนสถาปัตย์ ผมสนใจเรื่องเมืองด้วย โดยเฉพาะเรื่องอาคารที่ตอบสนองต่อ users จึงอยากเข้ามาเรียนรู้กับวงนี้ โดยส่วนตัวคิดว่า ตัวเมืองตรังมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง แต่สำหรับนักศึกษาที่มาจากจังหวัดอื่นอย่างผม เวลาว่างก็ไม่รู้จะไปไหน นอกจากร้านกาแฟหรือไม่ก็ขับรถมอเตอร์ไซต์ไปหาดปากเมง มันมีความรู้สึกว่า ไม่รู้จะไปไหน มันยังขาดพื้นที่อะไรบางอย่างที่ให้วัยรุ่นมาอยู่รวมตัวกัน ทำอะไรบางอย่าง เป็นพื้นที่ที่คนกระตุ้นคนให้ทำอะไรบางอย่าง เวลาเราเห็นคนอื่นทำอะไร เราก็รู้สึกอยากเป็นแบบเขาบ้าง ผมคิดว่า สภาพแวดล้อมเป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ในเมือง

พระอิทธิยาวัชย์ : ขอเสริมไอเดียของภานุพงศ์ อาตมาเคยไปดูงานที่เมืองไทเป ประเทศใต้หวัน บังเอิญได้เข้าไปดูพื้นที่หนึ่งซึ่งเป็นลานกว้างใจกลางเมือง มีลักษณะเหมือนเป็นลานปล่อยของสำหรับคนที่อยากจะแสดงความรู้ความสามารถและแบ่งปันให้คนอื่น จะมีบอร์ดให้ติดประกาศ แต่ละวันก็จะมีประกาศเปิดสอนเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทำนั่นทำนี่ มีเวลาของกิจกรรมแจ้งไว้ ถึงวันและเวลานั้นก็จะมาสอนมาแสดงกัน เป็นที่ที่เด็กและเยาวชนได้มาบ้ากันเต็มที่ รู้สึกว่า ที่ไทยก็มีคนคิดจะทำเหมือนกันแต่ยังไม่เห็น อาตมาคิดว่า พื้นที่แบบนี้สำคัญมาก เพราะนิสัยคนตรังเป็นนิสัยชอบรวมกลุ่มโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

ปัณฑ์ชนิต : เห็นด้วยกับพี่กรีน (ภานุพงศ์) เรื่องที่คนกระตุ้นคนในพื้นที่แบบนั้น พฤติกรรมคนรุ่นเรามันจะเป็นแบบเฝ้ามองคนอื่นว่าทำอะไรและลองทำแบบคนอื่นด้วย เช่น หนูไปเดินเล่นที่สนามกีฬา ตอนแรกก็ไม่ได้ตั้งใจจะออกกำลังกาย ไม่ได้จะวิ่งหรืออะไร แต่เมื่อเห็นคนอื่นออกกำลังกาย มีสุขภาพดี เราก็อยากวิ่ง อยากเล่นกีฬาบ้าง จนกลายเป็นว่าตอนนี้ไปวิ่งไปว่ายน้ำที่สนามกีฬาทุกครั้งที่มีเวลาว่าง

 

 
 
 
 
เผย แพร่ครั้งแรก ที่ https://medium.com/intermingle-in-trang/
 
 
 

• AUTHOR

 

 


อภิชญา โออินทร์

นักวิชาการอิสระ

เศรษฐศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาบัณฑิต Regional and Urban Planning Studies จาก LSE ประเทศอังกฤษ

Related Posts