Workshops

ถอดบทเรียนการฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าในประเทศไทย

 

ณัฐธิดา  เย็นบำรุง

 

 

แผนงานนโยบายสาธารณะเพื่อการพัฒนาอนาคตของเมือง (นพม.) ภายใต้ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง วิทยาลัยรัฐกิจ ม.รังสิต เข้าร่วมสังเกตการณ์งานเสวนาถอดบทเรียนการฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าในประเทศไทย วันที่ 11 – 12 ธันวาคม 2557 ที่หอศิลป์ จังหวัดเชียงใหม่ จัดโดย กรรมาธิการสถาปนิกชุมชน สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ มูลนิธิสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เนื่องจากแผนงาน นพม. ให้ความสนใจศึกษาการพัฒนาเมืองและมหานคร เข้าร่วมงานเสวนาครั้งนี้ เพื่อเรียนรู้กระบวนการการทำงาน ปัญหา อุปสรรค ของภาคประชาสังคมและหน่วยงานภาคีเครือข่าย ในการทำงานอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่า ซึ่งการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ชุมชนเก่าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมือง เป็นการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคม และจะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนพัฒนาเมืองในอนาคต

งานเสวนาถอดบทเรียนการฟื้นฟูย่านชุมชนเก่า ซึ่งกำลังดำเนินงานโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่า มีวัตถุประสงค์การจัดเสวนาครั้งนี้ คือ การสร้างองค์ความรู้และเชื่อมโยงภาคีการทำงานระหว่างตัวแทนชุมชนที่กำลังฟื้นฟูชุมชนทั่วประเทศ โดยมีตัวแทนชุมชนเข้าร่วมกว่า 15 ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในแม่ฮ่องสอน,หนองบัว จันทบุรี, สายบุรี ปัตตานี, ปงสนุก ลำปาง, สวี ชุมพร, ท่าม่วง กาญจนบุรี, ตะกั่วป่า พังงา, ตอกโรงยา อุทัยธานี,วังกลด พิจิตร, เชียงของ เชียงราย, ท่าอุเทน นครพนม, หัวตะเข้ กทม., ชุมชนในเมืองเชียงใหม่ และตัวแทนจากจังหวัดแพร่

 

การศึกษาดูงานการฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าในเชียงใหม่

เริ่มต้นงานเสวนาช่วงเช้าของวันที่ 11 ธันวาคม 2557 คณะผู้จัดงานมีโปรแกรมในการพาผู้เข้าร่วมเสวนา ศึกษาดูงานการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนเก่า 3 ชุมชน ในเมืองเชียงใหม่ มีวิทยากรนำศึกษา คือ คุณสามารถ สุวรรณรัตน์ นักวิจัยของเชียงใหม่ การอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนเก่าในเชียงใหม่นี้อยู่ภายใต้การสนับสนุนของโครงการฟื้นบ้านย่านเวียงเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการระหว่างภาครัฐและเอกชน ทำงานให้คนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมีความเข้าใจกับเมือง และเห็นคุณค่าเมือง คงสภาพเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมด้วยกัน

 

1. ชุมชนวัดพวกแต้ม

ชุมชนแรกที่ศึกษาดูงาน คือ ชุมชนวัดพวกแต้ม เป็นชุมชนเก่าแก่ ได้ทำการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชน โดยการอนุรักษ์อาชีพการทำฉัตร ครัวตอง ซึ่งเป็นอาชีพเก่าแก่ดั้งเดิมของชุมชน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน และสามารถขยายตลาด ไม่ใช่เพียงแค่วัด แต่เป็นที่ชื่นชอบของกลุ่มโรงแรม รีสอร์ต ที่ใช้ในการประดับตกแต่งได้ โดยแรงกระตุ้นในการอนุรักษ์ของชุมชน คือ ต้องการให้คนในชุมชนมีสำนึกรักชุมชนมากขึ้น อีกทั้งต้องการรักษาภูมิปัญญาของชุมชน จึงร่วมกับมหาวิทยาลัย องค์กรภาคีเครือข่าย โดยชุมชนช่วยกันระบุสิ่งที่มีคุณค่า และทำกระบวนการอนุรักษ์ที่จะรวบรวมสิ่งที่มีค่า มีแผนจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ของชุมชนได้ นอกจากนี้ชุมชนพวกแต้มยังเป็นชุมชนที่ให้ความสำคัญกับการเป็นชุมชนสีเขียว แต่ละบ้านจะมีการจัดสวนที่สวยงาม สนใจดูแลต้นไม้ใหญ่ และชนะรางวัลการประกวดต้นไม้ใหญ่ “ต้นผักหมเหี้ยน” อายุ 70 ปี ของเทศบาลนครเมืองเชียงใหม่ ที่จัดการประกวดสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนในการดูแลต้นไม้ และสร้างชุมชนให้กลายเป็นชุมชนแห่งสิ่งแวดล้อม

 

2. ชุมชนวัดนันทาราม

จากนั้นคณะเดินทางได้เดินทางศึกษาดูงานชุมชนที่ 2 คือ “ชุมชนวัดนันทาราม” ชุมชนที่ได้ทำการอนุรักษ์อาชีพการทำเครื่องเขิน ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมตั้งแต่การก่อตั้งชุมชน โดยประธานชุมชนอธิบายเพิ่มเติมว่า ชุมชนนี้มีความเก่าแก่มาก ผู้คนในยุคแรกของชุมชน ย้ายมาจากเชียงตุง ประเทศพม่า โดยนำอาชีพติดตัวมาคือ การทำเครื่องเขิน ทำให้ในสมัยอดีตเรียกชุมชนว่า “เขินนันทาราม” เมื่อมีการเปลี่ยนผ่านกาลเวลา ทำให้มีการทำอาชีพนี้น้อยลง จึงได้ทำการอนุรักษ์อาชีพการทำเครื่องเขินไว้ ร่วมกับโครงการฟื้นบ้านย่านเวียง และด้วยการเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง จึงจัดการท่องเที่ยว โดยใช้แนวคิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ออกแบบการท่องเที่ยวร่วมกัน โดยร่วมกับองค์กร Local Alike ช่วยเป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว

 

3. ชุมชนวัดทรายมูลเมือง

ชุมชนสุดท้ายก่อนพักเที่ยง ได้เดินทางศึกษาดูงานที่ชุมชน วัดทรายมูลเมือง เป็นชุมชนที่มีสถาปัตยกรรมวัดวาอารามเก่าแก่ หอระฆัง ที่มีคุณค่าในชุมชน แต่ทั้งนี้ชุมชนตั้งอยู่ในใจกลางเมือง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากภายนอกเข้ามาค่อนข้างมาก เป็นแหล่งท่องเที่ยว เกิดผับ บาร์ จำนวนมาก ทำให้มีผู้คนจากภายนอกเข้ามา คนในชุมชนจริงๆ เหลือน้อยลง ทำให้ความเข้มแข็งในชุมชนมีน้อย ด้วยเหตุนี้คนในชุมชนส่วนหนึ่งจึงลุกขึ้นมา รวมจิตใจเพื่อให้ชุมชนเป็นหนึ่งเดียว โดยใช้การกระบวนการอนุรักษ์ดึงใจผู้คน ด้วยการรักษาสิ่งที่มีคุณค่าในชุมชน ร่วมมือกับอีกหลายชุมชนในเชียงใหม่ จัดทอดผ้าป่า ทอดกฐิน เพื่อนำรายได้มาอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชน โดยปัจจุบันทางชุมชนกำลังบูรณะหอไตร อายุร่วมร้อยปี ของวัดทรายมูลเมือง ซึ่งมีกำหนดเสร็จ มกราคม ปี 2558

การพาผู้เข้าร่วมเสวนาเดินทางไปศึกษาดูงานถึงสถานที่ของการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าในเชียงใหม่ ภายใต้โครงการฟื้นบ้านย่านเวียงเชียงใหม่ เพื่อให้ตัวแทนชุมชนทั่วประเทศได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับภาพของจริงในชุมชนเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนที่มีการดำเนินงานการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนเก่ามานาน และเป็นกระบวนการที่มีการอ้างอิงความรู้ทางวิชาการจากการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและองค์กรต่างๆ อีกทั้งแสดงถึงศักยภาพความร่วมมือของชุมชน ที่แม้ว่าเมืองเชียงใหม่ต้องเผชิญกับการหลั่งไหลของผู้คนภายนอก การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เข้ามามากมาย ซึ่งเข้ามามีผลต่อการคงอยู่ของวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิตดั้งเดิมกำลังเปลี่ยนแปลงไป แต่ด้วยการตระหนักถึงคุณค่าร่วมกัน การขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน ทำให้การอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนเก่าที่เชียงใหม่ ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้

 

การ Workshop แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

ในช่วงบ่าย คณะผู้จัดงานจัดกิจกรรม Workshop ให้ผู้ร่วมเสวนาแบ่งกลุ่มตามความใกล้เคียงของพื้นที่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเสวนาแต่ละกลุ่มได้แลกเปลี่ยนร่วมกันเกี่ยวกับ จุดเริ่มต้นในการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชน กระบวนการหรือวิธีการขับเคลื่อนชุมชน กิจกรรมที่เคยดำเนินการแล้ว ปัญหา/ อุปสรรค ที่เผชิญอยู่ รวมถึงสิ่งที่ต้องการดำเนินการในอนาคตเกี่ยวกับการอนุรักษ์ฟื้นฟู ซึ่งแต่ละกลุ่มได้ใช้แลกเปลี่ยนถึงประเด็นเหล่านี้ร่วมกัน โดยมีผู้ดำเนินการกลุ่ม (facilitator) ของแต่ละกลุ่ม สรุปเนื้อหาจากการ Workshop ให้ผู้เข้าร่วมเสวนากลุ่มอื่นๆ ได้เรียนรู้ร่วมกัน โดยแบ่งการ Workshop ออกเป็น 5 กลุ่ม คือ


- กลุ่มที่ 1 กลุ่มชุมชนในเชียงใหม่
- กลุ่มที่ 2 พื้นที่สวี จังหวัดชุมพร, พื้นที่ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา, พื้นที่สายบุรี จังหวัดปัตตานี
- กลุ่มที่ 3 พื้นที่เชียงของ จังหวัดเชียงราย, พื้นที่กลุ่มไทใหญ่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
- กลุ่มที่ 4 พื้นที่ตอกโรงยา จังหวัดอุทัยธานี, พื้นที่วังกลด จังหวัดพิจิตร, พื้นที่ท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
- กลุ่มที่ 5 พื้นที่ท่าอุเทน จังหวัดนครพนม, พื้นที่หัวตะเข้ กทม., พื้นที่หนองบัว จังหวัดจันทบุรี

 

จากการนำเสนอของผู้ดำเนินการกลุ่ม (facilitator) ของแต่ละกลุ่ม สามารถสรุปได้ว่า ทุกพื้นที่มีรายละเอียดจุดเริ่มต้น รายละเอียดเชิงลึกของกระบวนการต่างๆ รวมทั้งปัญหา อุปสรรคที่แตกต่างกันตามบริบท คุณค่าและประวัติศาสตร์ของพื้นที่นั้น แต่ทั้งนี้สามารถดึงจุดร่วมของเนื้อหาคล้ายกันได้ว่า จุดเริ่มต้นการอนุรักษ์ส่วนใหญ่มาจากการที่แต่ละชุมชนเป็นชุมชนเก่า มีของดี มีประวัติศาสตร์ มีคุณค่าต่างๆ เคยเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในอดีต แต่มักพบกับปัญหาการเสื่อมโทรมของพื้นที่ ผู้คนย้ายออก เหลือแต่ผู้สูงอายุในชุมชน จึงต้องการรื้อฟื้นให้พื้นที่กลับมารุ่งเรือง และปลูกจิตสำนึกรักท้องถิ่นของคนในพื้นที่ หรือจุดเริ่มต้นของบางที่มาจากการเจอเหตุการณ์ที่ทำให้ชุมชนเปลี่ยนไป เช่น สถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ ทำให้คนในพื้นที่เกิดความระแวง จึงเป็นจุดเริ่มต้นการทำงานฟื้นฟูชุมชนของสายบุรี ที่หวังใช้ศิลปวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมดึงใจผู้คนให้กลับมาอยู่ร่วมกันได้อีกครั้ง

กิจกรรมส่วนใหญ่ที่ใช้ดำเนินการมีหลากหลายตามพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่มักจะดึงของดีของตนเอง มาสร้างรายได้ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น การจัดถนนคนเดิน จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อรักษาคุณค่าของพื้นที่ รวมทั้งมีกิจกรรมการถ่ายทอดถึงรุ่นใหม่ อย่างการจัดศูนย์การเรียนรู้ นอกจากนี้ยังมีการใช้ Social media ในการสื่อสารกับผู้คนในพื้นที่และคนภายนอก เช่น การเปิดเพจ ใน Facebook เช่นที่หัวตะเข้ เปิดเพจ “กลุ่มคนรักหัวตะเข้” หรือสายบุรี เปิดเพจ “Saiburi looker” เพื่อนำเสนอภาพสวยๆ ให้คนได้ชื่นชมความสวยงามและความเก่าแก่ของพื้นที่

สำหรับปัญหาและอุปสรรค แต่ละชุมชนเผชิญปัญหาแตกต่างกันตามบริบทพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาคือ การรักษากระบวนการกลุ่ม การต้องเผชิญกับคนภายนอกที่เข้ามาหาประโยชน์จากการฟื้นฟูชุมชน ปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่น ที่วังกลด พื้นที่บางส่วนอยู่ในการดูแลของการรถไฟ ทำให้ยากต่อการเกิดความยืนหยุ่นในการทำงาน และหลายชุมชนเผชิญกับปัญหาการสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ให้เห็นคุณค่าสิ่งเก่าแก่ในชุมชนร่วมกัน เนื่องจากหลายคนไม่เข้าใจคุณค่าของพื้นที่ จึงไม่เห็นประโยชน์ในการต้องอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชน และที่สำคัญการต้องเผชิญกับปัญหากลไกด้านกฎหมาย ด้านการเงิน ที่ยังไม่เอื้ออำนวยให้ท้องถิ่นสามารถดำเนินการด้วยตนเองได้ เช่น ประเทศไทยมีแค่กฎหมายรักษาโบราณสถาน แต่ไม่มีกฎหมายสำหรับการรักษาอาคารเก่า บ้านโบราณเก่าๆ เป็นต้น รวมถึงปัญหาการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดำเนินการด้วยตนเอง ซึ่งหลายเรื่องยังต้องรอการตัดสินใจจากส่วนกลางอยู่ ซึ่งทางเชียงใหม่มีข้อเสนอที่น่าสนใจในการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนเก่า คือ นโยบายจากส่วนกลางไม่ควรเป็นนโยบายลักษณะควบคุม แต่ควรเป็นนโยบายส่งเสริม เปิดโอกาสให้ชุมชนได้คิด ดำเนินการด้วยตนเองจริงๆ

สุดท้ายของวัน ก่อนงานเสวนาในวันแรกจะจบลง คณะผู้จัดงานได้แจกโจทย์ให้ชุมชนได้กลับไปคิดถึงแผนงานการดำเนินงานระยะสั้นและระยะยาวในอนาคต เพื่อให้เห็นทิศทางและเป้าหมายของการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนของตนเอง และสามารถเขียนขอทุนเพื่อสนับสนุนงานอย่างมีทิศทางได้ เนื่องจากคณะทำงานมีโครงการให้ทุนต่อยอดกระบวนการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนเก่า

 

สรุปการจัดการความรู้การอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านชุมชนเก่า

ในวันที่ 12 ธันวาคม 2557 จากการแจกโจทย์แผนการดำเนินงานในอนาคต แต่ละชุมชนได้นำเนอถึงแผนระยะสั้นแลยะยาว และสิ่งที่ต้องการให้คณะผู้จัดการสนับสนุน จากนั้นอาจารย์สักรินทร์ แซ่ภู อาจารย์คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ทำการสรุปสิ่งที่โครงการฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าสามารถสนับสนุนจากความต้องการของผู้เข้าร่วมเสวนา และการสรุปเชื่อมโยงองค์ความรู้การอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนเก่าให้ออกมาเป็นรูปแบบที่ชัดเจนให้ก่อนจบงาน ทั้งนี้สิ่งที่ชุมชนได้นำเสนอ ได้นำเสนอแผนงานดำเนินงานในอนาคต และโครงการสามารถสนับสนุนได้ สามารถสรุปได้มีดังนี้


1. การรวบรวมข้อมูลและจัดการองค์ความรู้ของชุมชน พร้อมเผยแพร่ให้คนในชุมชนและคนนอกได้เรียนรู้ที่มา ประวัติศาสตร์ ความสำคัญของชุมชน
2. ปรับปรุงฟื้นฟูด้านกายภาพ เช่น การกำหนดโซนพื้นที่อนุรักษ์ การซ่อมแซมปรับปรุงบ้านโบราณ
3. การส่งเสริมอัตลักษณ์ของชุมชนให้มากขึ้น
4. ส่งเสริมกระบวนการ/ กลุ่มองค์กร / การทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายมากขึ้น
5. ผลักดันให้เกิดการกลไกทางกฎหมาย เทศบัญญัติ เพื่อให้สนับสนุนในการดำเนินงาน

 

 

ก่อนจบการเสวนา อาจารย์สักรินทร์ได้สรุปเพิ่มเติมเกี่ยวกับสำหรับองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ จากการศึกษาดูงาน การ Workshop การนำเสนอตลอดทั้ง 2 วัน สามารถสรุปเชื่อมโยงได้เป็นรูปแบบการจัดการความรู้การอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนเก่าให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นในการทำงานอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนเก่า (ภาพด้านบน) ซึ่งอธิบายได้ว่า ในแต่ละพื้นที่มักจะมีจุดเริ่มต้นในการอนุรักษ์ที่แตกต่างกันตามบริบทของพื้นที่ แต่ทั้งนี้ทุกพื้นที่มักจะเชื่อมโยงสิ่งที่ตนเองมี ร่วมกับประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้รู้ว่าชุมชนของตนเองนั้นมีคุณค่าอย่างแท้จริง เพื่อให้มีที่มาที่ไป มีการอ้างอิงที่ถูกต้อง แต่ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยเหตุผลใด หรือมีประวัติศาสตร์คุณค่าแบบไหน ทุกพื้นที่ของการอนุรักษ์มักจะหนีไม่พ้น 2 เรื่องคือ กรเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นเทศบาล มหาวิทยาลัย และการทำงานที่ต้องเชื่อมโยงกับกลไกทางกฎหมาย กลไกทางการเงิน ที่จะเป็นส่วนในการสนับสนุนในการดำเนินงานได้ แต่แท้จริงแล้วไม่ว่าจะเป็นกายภาพ ประวัติศาสตร์ อัตลักษณ์ ผู้คน กระบวนการ เครือข่าย กลไกต่างๆ ต้องมีการเชื่อมโยงร่วมกัน ไม่สามารถละทิ้งอันใดอันหนึ่งได้ เช่น หากต้องการอนุรักษ์อาคารเก่า แต่ไม่สนใจเรื่องของคน สิ่งที่ได้มาก็เป็นเพียงแค่อาคารเก่า แต่ไม่มีผู้คน ไม่มีการอาศัยอยู่ ไม่มีชีวิต ซึ่งเป็นเพียงแค่กายภาพแค่นั้น ไม่มีประโยชน์ในการใช้ต่อ หรือการอนุรักษ์ภาษาวัฒนธรรม หากเมื่อคนในชุมชนพูดภาษานั้นได้แล้ว ควรคิดต่อถึงการสืบสาน ถ่ายทอด ควรมีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับกายภาพในการสร้างลาน หรือศูนย์การเรียนรู้ ซึ่งทุกอย่างต้องมีการเชื่อมโยงกัน จึงจะสามารถเป็นการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนเก่าที่สามารถทำได้อย่างยั่งยืนได้

ณ เวลานี้ เรายังไม่มีกฎหมายหรือกลไกที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ แต่สิ่งที่ทุกพื้นที่ควรทำและให้ความสำคัญ คือ การนิยามสิ่งที่มีคุณค่าร่วมกันของชุมชน เช่น อาคาร บ้านเรือน เป็นต้น เป็นการขึ้นทะเบียนสิ่งที่มีค่าของภาคประชาชนไว้ก่อน เพื่อเป็นหลักฐาน เป็นวิชาการ สามารถอ้างอิงได้ ที่เป็นคุณค่าร่วมกันของคนในชุมชน ซึ่งสามารถต่อยอดในการอนุรักษ์ได้ในอนาคต

จากการเข้าร่วมประชุมการงานเสวนาถอดบทเรียนการฟื้นฟูย่านชุมชนเก่าในประเทศไทยแล้ว นอกจากการเชื่อมโยงองค์ความรู้การอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนเก่า ให้เห็นภาพการเชื่อมโยงกระบวนการที่ชัดเจนแล้ว สิ่งหนึ่งที่สำคัญตลอดการเสวนาคือ การแลกเปลี่ยนข้อมูล และการเกิดเครือข่ายซึ่งกันและกันของตัวแทนพื้นที่ทั่วประเทศ ผ่านการพูดคุยในการกิจกรรมต่างๆ การดูงาน การ Workshop หรือการพูดคุยนอกรอบตามความสนใจของแต่ละพื้นที่ที่มีให้กัน กลายเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกันได้ รวมทั้งการเข้าร่วมงานเสวนา ยังเปิดโอกาสให้ตัวแทนของพื้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนการสนับสนุนของคณะผู้จัดงาน แนะนำ วิเคราะห์ให้ตัวแทนของพื้นที่ได้เข้าใจทิศทางความต้องการของตนเอง เพื่อเขียนโครงการขอทุนในการสนับสนุนการทำงานของพื้นที่อย่างตรงเป้าหมายการฟื้นฟูอนุรักษ์ชุมชนเก่าของพื้นที่นั้นจริงๆ

การเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงการได้ความรู้และความเข้าใจในกระบวนการการอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชน แต่แผนงาน นพม.สามารถสร้างเครือข่ายกับภาคประชาสังคมที่เป็นคนของพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งการทำงานอนุรักษ์ฟื้นฟูชุมชนเก่า เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเมืองให้มีทิศทาง มีอัตลักษณ์ที่เป็นตัวตนรากเหง้าดั้งเดิมของตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในฐานะคนทำงานด้านการพัฒนาเมืองและมหานคร แผนงานฯสามารถนำความรู้ที่สามารถสรุปได้จากกระบวนการ รวมถึงปัญหาและอุปสรรค ด้านกลไก นโยบาย เป็นส่วนหนึ่งในการวิเคราะห์แก้ปัญหาระดับเมือง และผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อพัฒนาเมืองต่อไป

 

 

 

• AUTHOR

 


ณัฐธิดา เย็นบำรุง

นักวิจัย ประจำศูนย์ศึกษามหานครและเมือง 

ติดต่องาน : nuttida.e@gmail.com

Related Posts